ในปัจจุบันที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว ค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มขึ้น ทั้งจากราคาสินค้า และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ราคาที่อยู่อาศัยก็ปรับตัวตามต้นทุนค่าก่อสร้างที่สูงขึ้นด้วย รัฐบาลชุดใหม่จึงพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าผ่าน 6 มาตรการที่ผ่านคณะรัฐมนตรีไปเมื่อ 1 เมษายนที่ผ่านมา แต่เป็นที่สังเกตว่ามีเพียงมาตรการเดียวที่คนในเขตเมืองโดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑลให้ความสนใจที่สุด นั่นก็คือมาตรการสินเชื่อบ้านแก่ผู้มีรายได้น้อยอัตราดอกเบี้ยต่ำของธอส. ที่ปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยหลังแรกให้แก่ผู้มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 15,000 บาทในวงเงินไม่เกินรายละ 600,000 บาท โดยคิดดอกเบี้ยคงที่ระยะยาวและต่ำกว่าธนาคารทั่วไป ซึ่งมี 2 ทางเลือกคือ อัตราดอกเบี้ยคงที่ 7 ปีที่ 4.0% และคงที่ 10 ปีที่ 4.5% หลังจากนั้นลอยตัวที่ MRR – 0.50% ซึ่งเป็นการช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสมีบ้านหลังแรกเป็นของตนเองโดยตรง ทั้งยังสามารถช่วยลดภาระการผ่อนชำระต่อเดือนได้อย่างมาก
โดยปกติ หากท่านต้องการซื้อบ้านราคา 600,000 บาทและยื่นขอกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ด้วยอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยประมาณ 6 – 7% ต่อปี ท่านจะต้องมีเงินเดือนขั้นต่ำประมาณ 11,500 บาทจึงจะสามารถกู้ได้ แต่นี่ยังไม่นับรวมภาระอื่นที่ท่านมีอยู่ในขณะนั้นๆ เช่น ค่าผ่อนรถและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งในความเป็นจริงค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็จะถูกนำมานับรวมในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อด้วย แต่เมื่อภาครัฐฯ คลอดมาตรการดังกล่าวออกมา อัตราดอกเบี้ยที่ท่านต้องเสียจะลดลงเหลือ 4% ต่อปีเท่านั้น ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยทุก 1% จะทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นถึง 6% ดังนั้นมาตรการนี้จึงมีส่วนทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นถึง 18% เลยทีเดียว
จากที่ต้องมีรายได้สูงถึง 11,500 บาทต่อเดือนถึงจะซื้อบ้านราคา 600,00 บาทได้ ตอนนี้เพียงท่านมีเงินเดือน 9,000 บาท ท่านก็สามารถเป็นเจ้าของบ้านได้ทันที นอกจากนี้ภาระการผ่อนชำระค่างวดต่อเดือนก็ลดลงถึงเดือนละ 1,000 บาท จากปกติผ่อนอยู่ 4,600 บาททุกเดือน ก็จะลดลงเหลือเพียง 3,600 บาทเท่านั้น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำนี้จึงเป็นการเพิ่มความสามารถในการกู้ให้กับประชาชนโดยตรง ซึ่งธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากติดภาระต้นทุนที่สูงกว่า แต่หากต้องทำจริงก็คงทำได้เพียงการเสนออัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาวอยู่ที่ประมาณ 6 – 7% ซึ่งก็คงไม่มีใครยอมมากู้แน่ เพราะมันยังคงแพงเกินไปอยู่ดี
สำหรับท่านที่มีรายได้น้อย และกำลังวางแผนที่จะซื้อบ้านและกู้สินเชื่อบ้านควรจะเตรียมตัวอย่างไร เพื่อให้การกู้ของท่านสะดวกรวดเร็วและได้รับอนุมัติสมใจท่าน หากท่านเป็นพนักงานกินเงินเดือนประจำก็ไม่ค่อยมีปัญหามากนัก แต่หากท่านมีอาชีพอิสระ เช่น นักร้อง นักแสดง นายหน้า ขายประกัน ขายตรง ขายก๋วยเตี๋ยว ขายข้าวแกง ขายกล้วยแขก ท่านอาจจะประสบกับปัญหาการประเมินรายได้ของธนาคาร เนื่องจากอาชีพเหล่านี้พิสูจน์รายได้ยาก ด้วยเหตุนี้เองท่านจึงต้องมีการเตรียมตัวที่มากกว่า ในวันนี้จึงผมขอแนะนำให้ฟังเบื้องต้นว่าหากท่านมีอาชีพอิสระ ท่านควรทำอย่างไรกู้ได้ หรือทำอย่างไรให้เป็นผู้ที่มีเครดิตในสายตาของสถาบันการเงินกรณีเป็นการกู้ส่วนบุคคล โดยเริ่มจาก
หมั่นนำรายได้ฝากธนาคาร หากมีความจำเป็นต้องการใช้เงินก็ใช้วิธีเบิก-ถอนจาก ATM แทน การเก็บเงินไว้ที่บ้าน เพื่อให้มีการเดินรายการผ่านบัญชีสม่ำเสมอ
สะสมเงินฝากต่างๆ เช่น เงินฝากทวีทรัพย์ เพื่อให้มีรายได้สม่ำเสมอ และมีเงินคงเหลืออยู่ในบัญชีตลอดเวลา
พยายามกู้ และลดภาระการใช้จ่ายให้น้อยลง อย่านำรายได้ของตัวเองไปจมอยู่กับการผ่อนรถ, ผ่อนข้าวของเครื่องใช้และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มากจนเกินไป เพราะการกระทำดังกล่าวจะเป็นการกินรายได้ของตนเองมากจนไม่เหลือพอที่จะยื่นขอกู้บ้านได้ ควรให้ความสำคัญกับการกู้บ้านเป็นอันดับแรก
หากมีวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคล หรือหนีบัตรเครดิตที่ยังผ่อนชำระไม่หมด ควรรีบจัดการชำระให้หมด เพราะปกติวงเงินของบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลต่างๆ จะให้วงเงินอยู่ประมาณ 3 – 5 เท่าของรายได้เต่อเดือนเท่านั้น แต่การกู้บ้านมีวงเงินสูงถึง 50 – 60 เท่าของรายได้ต่อเดือน ดังนั้นท่านจะเลือกให้ความสำคัญกับสิ่งไหนมากกว่า
เป็นผู้มีวินัยทางการเงิน เพราะหากท่านมีประวัติผิดนัดชำระหนี้จนเป็น NPL หรือมีประวัติเสียในระบบเครดิตบูโร สถาบันการเงินคงไม่ให้ท่านกู้ แต่ถ้าท่านมีภาระเดิมก็ขอแนะนำ ให้พยายามรักษาเครดิตให้ดี เพราะสถาบันการเงินจะนำภาระหนี้เดิมของท่าน ไปคำนวณความสามารถในการผ่อนต่อไป
พยายามถ่ายรูปร้านค้าของท่านเวลามีลูกค้าเข้าร้านเยอะๆ เพื่อเป็นเอกสารประกอบการยื่นขอกู้กับธนาคาร
ถ้าท่านไม่สามารถพิสูจน์รายได้ชัดเจน คงต้องปรึกษากับเจ้าหน้าที่ธนาคาร เพื่อให้คำแนะนำการจัดเตรียมข้อมูลการประมาณการรายได้ของท่านต่อไป
สุดท้ายผมขอแนะนำว่า ท่านควรมีรายได้สม่ำเสมอและแน่นอนก่อนจึงค่อยคิดจะกู้บ้าน เพราะท่านจะต้องผ่อนชำระไปอีก 15 - 20 ปี และควรจะซื้อบ้านตามกำลังที่ตนเองมีอยู่เท่านั้นไม่ควรซื้อบ้านให้ใหญ่เกินตัวเกินกำลังของตน จะก่อความเดือดร้อนให้ท่านในอนาคตได้ ขอให้ระวังสักนิดครับ...
ขอขอบคุณ คุณ ชาติชาย พยุหนาวีชัย
Ref: khomesmilesclub