แก้ปัญหาดาดฟ้ารั่ว

"แก้ปัญหาดาดฟ้ารั่ว…คุณก็ทำได้

หน้าฝนทีไรปัญหาที่สร้างความหนักอกหนักใจให้กับเจ้าของบ้าน โดยเฉพาะบ้านที่มีดาดฟ้า การรั่วซึมของน้ำที่ดาดฟ้าเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไป และมักสร้างความรำคาญให้กับเจ้าของบ้านอยู่เสมอ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะพื้นที่บริเวณดาดฟ้าต้องถูกแดดถูกฝนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทำให้ปูนซึ่งมีลักษณะเป็นรูพรุนเสื่อมสภาพได้ง่าย แม้ว่าตอนก่อสร้างแรก ๆ จะมีการเทพื้นดาดฟ้าอย่างดี ไม่มีรอยแตกร้าวเกิดขึ้นเลย แต่อย่าลืมครับว่า ปัญหา การรั่วซึมของน้ำบนดาดฟ้านั้นยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ดาดฟ้าเกิดการรั่วซึมขึ้นมา เป็นต้นว่า
- พื้นดาดฟ้ามีความลาดชัน (Slope) น้อยเกินไป ทำให้เวลาฝนตกลงมา น้ำไม่สามารถไหลระบายไปได้อย่างที่ควรจะเป็น
- มีแอ่งหลุมบนดาดฟ้า ทำให้น้ำท่วมขังเป็นแห่ง ๆ บนพื้นดาดฟ้า
- พื้นหลังคาเป็นหลังเต่า เนินทั้ง 2 ด้านทำให้ น้ำขังเป็นเวลานาน
- พื้นหลังคามีรอยรั่ว อาจเกิดจากการเทคอนกรีตหรือกรรมวิธีการก่อสร้าง

มาตรวจสอบรอยรั่วบนดาดฟ้ากันเถอะ
รอยรั่วบนดาดฟ้าที่เกิดขึ้นบางครั้งเราสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน อาจมีรอยน้ำหยดเป็นทาง หรือเพียงแค่ ซึม ๆ แต่หลายครั้งที่เราอาจไม่ทันสังเกต เพราะรอยรั่วมีขนาดเล็ก แต่สามารถสร้างความเสียหาย หรือสร้างความรำคาญให้กับห้องที่อยู่ใต้บริเวณรอยรั่วได้ ฉะนั้นก่อนอื่นเราต้องหารอยรั่วนั้นเสียก่อน
ในกรณีที่มองไม่เห็นรอยรั่ว แต่เรารู้ว่ามีรอยรั่วเกิดขึ้น ในตอนที่แดดออกให้ลองเอาน้ำราดพื้นดาดฟ้าบริเวณที่คาดว่าจะมีรอยรั่ว ดูว่ามีรอยแตกที่พื้นดาดฟ้าหรือไม่ ถ้ามีแสดงว่านั่นเป็นช่องที่น้ำเล็ดลอดลงไปข้างล่าง แต่หากดูแล้วไม่มีรอยแตกอาจเกิดจากรอยต่อที่บริเวณขอบของผนังดาดฟ้าก็เป็นได้

แก้ไขดาดฟ้ารั่วด้วยตัวเอง
การแก้ไขดาดฟ้ารั่วมีหลายวิธี หากรอยรั่วไม่มากหรือมีขนาดไม่ใหญ่สามารถแก้ไขได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง เช่น
- นำเอาฟลิ้นโค้ทมายาแนวตรงบริเวณที่มีรอยแตก แล้วขังน้ำเอาไว้ หากไม่มีน้ำรั่วลงไปแสดงว่าแก้ปัญหาถูกจุด
- หากรอยแตกใหญ่และกินบริเวณกว้าง ควรเรียกบริษัททำระบบกันซึมมาทำระบบกันซึมให้ ซึ่งการทำ จะมีทั้งชนิดที่ใช้น้ำยาทาหรือจะเป็นแผ่นยางบาง ๆ วางซ้อนทับกันหลาย ๆ ชั้น แล้วจึงเทปูนทับหน้า หรือจะใช้แผ่น Solar Slab ปูทับก็ได้เช่นกัน
- ปูกระเบื้องเซรามิกทับลงไปบนพื้นดาดฟ้า วิธีนี้ต้องลงทุนเพิ่มเพราะกระเบื้องเซรามิกสามารถกันน้ำซึมได้ดี แถมยังทนทานต่อแดดฝนได้ดีกว่าปูนซีเมนต์ แต่ต้องระวังเรื่องการยาแนวบริเวณรอยต่อของกระเบื้อง ต้องเลือกใช้กาวยาแนวคุณภาพดี และหมั่นดูแลซ่อมแซมกำจัดสิ่งสกปรกหรือเศษพื้นปูนที่แตกกะเทาะหลุดล่อน
- ไม่ควรแก้ปัญหาดาดฟ้ารั่วด้วยการเทปูนทับหน้าลงไปอีก เพราะคุณสมบัติของปูนซีเมนต์มีรูพรุนน้ำสามารถซึมผ่านได้ตลอดเวลา ยิ่งถ้ามีความชื้นหรือ น้ำท่วมขังอยู่บนพื้นผิวเป็นเวลานาน น้ำซึมจากดาดฟ้า รั่วก็เกิดขึ้นได้อีก แถมยังเป็นการไปเพิ่มน้ำหนักให้กับโครงสร้างโดยไม่จำเป็น

เทคนิคซ่อมดาดฟ้ารั่วแบบประหยัด
การเลือกว่าจะซ่อมแซมดาดฟ้ารั่วด้วยวิธีใดขึ้นอยู่กับความสะดวกและงบประมาณของแต่ละคนครับ แต่สำหรับคนที่ไม่ค่อยมีงบเท่าไหร่ เราก็มีวิธีการซ่อมแซมดาดฟ้าอย่างง่าย ๆ มาแนะนำกัน ดังนี้
1. เมื่อสำรวจเจอรอยน้ำรั่วซึมแล้ว หากรอยร้าวเป็นร่องลึกให้ใช้ซีเมนต์ทากันซึม โดยให้ผสมน้ำแล้วทาบริเวณรอยที่รั่ว ทิ้งไว้ให้แห้ง วิธีนี้ใช้ได้กับดาดฟ้า กำแพงที่ร้าว ทาก่อนปูกระเบื้องห้องน้ำ หรือแม้แต่ทาก่อนทาสีทับหน้า เพื่อกันน้ำซึมและไม่ทำให้สีที่ทาไปแล้วหลุดลอกออกมา
2. หากรอยร้าวเป็นร่องใหญ่ ให้ใช้ซีเมนต์แห้งเร็วอุดบริเวณน้ำรั่ว โดยใช้ผสมกับน้ำแล้วอุดรอยรั่ว ซีเมนต์จะแห้งภายใน 3 นาที แต่หากเป็นการรั่วบริเวณรอยต่อให้ใช้ซิลิโคนแทน เนื่องจากซิลิโคนมีคุณสมบัติยืดหยุ่นมากกว่าซีเมนต์แห้งเร็ว ยิ่งเป็นบ้านหรืออาคารที่อยู่ใกล้ริมถนน หรือบริเวณที่มีรถวิ่งผ่านตลอดเวลา การใช้ซิลิโคนจะช่วยให้บริเวณที่อุดซ่อมแซมไม่หลุดล่อนง่าย อันเนื่องมาจากแรงสั่นสะเทือนขณะที่รถวิ่งผ่าน
แค่นี้คุณก็หมดปัญหากวนใจจากดาดฟ้ารั่วในช่วงหน้าฝนแล้วครับ"
ที่มา:
www.gearmag.info

ออกแบบบ้านอย่างไร...อยู่แล้วมีความสุข

คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า “การตกแต่งภายใน” คือการพา Interior Designer (มัณฑนากร) มาเลือกซื้อของเข้าบ้าน จัดวางเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน หรือออกแบบเฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน (Built in Furniture)
แต่จริงๆ แล้วการตกแต่งภายในมีความหมายครอบคลุมถึงการออกแบบและการตกแต่งบ้านที่ต้องคำนึงถึงฟังก์ชั่นและการใช้งานในชีวิตประจำวันของผู้อยู่อาศัยว่า...ทำอย่างไรให้มีความสุขในบ้านหลังนี้? โดยเน้นหลักของการจัดวางตำแหน่งพื้นที่ของห้องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นห้องนอน ห้องรับแขก ห้องทานอาหาร ตำแหน่งเฟอร์นิเจอร์ การเลือกใช้สี การจัดแสงไฟ การเลือกใช้วัสดุปิดผิวต่างๆ รวมถึงการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ด้วย สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งช่วยให้บ้านของคุณมีความน่าอยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น และเป็นสิ่งที่จะแสดงถึงสไตล์ หรือรสนิยมของเจ้าของบ้านนั่นเอง เรามักจะได้พบได้เห็นกันอยู่บ่อยๆ ว่า บ้านที่ไม่ได้รับการออกแบบตกแต่งที่ถูกต้อง มักจะมีเหตุการณ์แปลกประหลาดอยู่ในบ้านนั้น เช่น พื้นที่ระหว่างเสาที่ไม่สามารถวางตู้ได้ ห้องครัวที่ยากต่อการใช้สอย แสงในห้องที่ไม่เพียงพอ โต๊ะกินข้าวที่สมาชิกในบ้านไม่สามารถนั่งพร้อมกันได้ หรือแม้กระทั่งห้องรับแขกที่เหมือนจะบอกแขกผู้มาเยือนว่าเมื่อไหร่จะกลับบ้านซักที เป็นต้น “สิ่งเหล่านี้” มักจะเป็นสิ่งที่เราไม่เคยต้องการ แต่มันพาลจะเข้ามาอยู่ในบ้านกับเราซะงั้น!!! แต่คุณไม่ต้องกังวลใจไป เพราะเมื่อคุณเลือกที่จะใช้มัณฑนากรมาเป็นผู้รังสรรค์ความคิดฝันในไอเดียของคุณให้กลายเป็นความจริง การออกแบบตกแต่งภายในก็จะสามารถปรับเปลี่ยนและจัดพื้นที่ บรรยากาศ ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของบ้านคุณได้อย่างสวยงามและลงตัว อย่างเช่น ทิศทางของแสงแดด ทิศทางของลม การจัดบรรยากาศของห้องต่างๆ ให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าของบ้านได้ นอกจากความสะดวกสบายแล้ว ยังต้องสวยงามผสมผสานกับศิลปะ ฟังก์ชั่นที่ดี ฟอร์มก็ต้องดีตามด้วยนะครับ อย่างเรื่องการเลือกใช้วัสดุปิดผิวที่ในท้องตลาดมีมากมายหลายแบบ ซึ่งแต่ละแบบก็เหมาะกับงานในแต่ละสไตล์ เช่น กระเบื้อง ก็มีแบบหลายสิบแบบให้เลือกสรร ทั้งกระเบื้องธรรมชาติ กระเบื้องมัน กระเบื้องเงา กระเบื้องแกรนิตโต้ กระจกก็มีเป็นสิบๆ ชนิด ไม่ว่าจะเป็นกระจกลามิเนท กระจกฝ้า กระจกใส กระจกเงา กระจกลายผ้า นี่ยังไม่นับวัสดุอีกเป็นหลายสิบชนิดเช่นกัน ซึ่งเราสามารถนำเอาวัสดุต่างๆ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ จัดให้สวยงาม เกิดเป็นรูปแบบที่ลงตัวและเกิดประโยชน์ด้วย อย่างห้องเล็กๆ อาจจะใช้กระจกเงาเข้ามาตกแต่งผนัง แล้วอาศัยแสงไฟช่วยซักเล็กน้อย ก็สามารถทำให้ห้องดูกว้าง น่าอยู่ เป็นต้น ความหลากหลายของวัสดุ บวกกับความชอบของเจ้าของบ้านแบบใหม่ๆ (แถวบ้านเรียก “แนว”) จึงก่อให้เกิดรูปแบบสไตล์การออกแบบตกแต่งภายในที่หลากหลาย สไตล์ใคร สไตล์มัน เกิดเป็นความยูนีคขึ้น เป็นบ้านหลังเดียวในโลก ไม่มีใครเหมือน และไม่มีเหมือนใคร สรุปสั้นๆ ง่ายๆ ว่าหากวันนี้คุณกำลังจะเริ่มการออกแบบตกแต่งภายในของบ้านในฝันหรือเรือนหอรักของคุณกับใครสักคน การตกแต่งภายในนั้นจะทำให้ชีวิตของคุณมีความสุขกับบ้านแสนรักหลังนี้ได้ โดยมัณฑนากรจะขัดเกลาจากการนำเอาความคิด ความชอบ บวกลักษณะนิสัยส่วนตัวของเจ้าของบ้าน มาคลุกเคล้ากับศิลปะและทักษะของผู้ออกแบบเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งด้านประโยชน์ใช้สอยและความสวยงามในสไตล์ที่เป็นคุณนั่นเองครับ

ที่มา : สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์

ฮวงจุ้ยกับการตกแต่งบ้าน

การแต่งบ้านให้น่าอยู่ เงินทองไหลมาเทมา คนสมัยก่อนส่วนใหญ่มักจะถือหลักฮวงจุ้ย จะช่วยเสริมให้บ้านและผู้อาศัยเจริญรุ่งเรือง..รับแต่สิ่งดีๆ เข้ามาภายในบ้าน...
แสง ภายในบ้านควรมีแสงสว่างอย่างพอเพียง บริเวณพื้นที่นอกตัวบ้านหรือภายในสวนก็ควรมีแสงสว่างมากๆ ในยามค่ำคืน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะใช้ไฟในบริเวณนอกบ้านน้อยมากหรือไม่ใช้เลย ทำให้บริเวณรอบบ้านดูมืดอึมครึม แต่ถ้าเปิดไฟไว้บริเวณนอกตัวบ้านหรือภายในสวน ก็จะกระตุ้นความเจิดจ้าและความมีชีวิตชีวาให้แก่ผู้คนในบ้านนั้น แต่ในตัวบ้านไม่ต้องใช้ไฟปริมาณมากเกินไปจนสว่างจ้า เพราะจะส่งผลให้ประสาทตาต้องทำงานหนักเกินไป แสงไฟควรนุ่มนวลพอดี และไม่มืดหม่นสลัวลางเกินไป ไฟที่มีแสงออกแกมสีเขียวด้วยนั้น ไม่ควรนำมาติดไว้ในบ้านเด็ดขาด ! เพราะเวลาแสงไฟส่องต้องใบหน้าคนในบ้านแล้วจะดูเหมือนใบหน้าคนตายไร้สีเลือด ไฟที่มีรูปทรงเป็นโคมระย้า ก็ถือว่าเป็นรูปทรงที่ดี เพราะทำให้ชี่ที่รุนแรงกระจายตัวออกไปอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรแขวนไว้ในตำแหน่งที่ต่ำจนเกินไป กระจกเงา กระจกเงาช่วยแก้ไขฮวงจุ้ยให้ดีขึ้นได้ แต่ก็ต้องติดไว้อย่างถูกที่ถูกทางด้วย จึงจะส่งผลดีให้แก่ผู้อยู่อาศัย หากนอกบ้านมีสระน้ำหรือแม่น้ำ เราควรติดกระจกเงาที่ผนังในตำแหน่งซึ่งกระจกเงาสามารถสะท้อนภาพของแม่น้ำได้ คือ ดึงเอาภาพของน้ำมาไว้ในห้องนั่นเอง การแขวนกระจกเงาไว้บนผนัง ไม่ว่าเพื่อแก้ไข หรือเสริมกรณีใดก็ตาม ที่ถูกต้องก็คือ จะต้องแขวนไว้ในระดับที่ไม่สูงจนเกินไป หรือต่ำกว่าระดับศีรษะของคนในครอบครัว กระจกเงาช่วยให้ห้องเล็กๆ ดูกว้างขึ้นและสว่างขึ้น อีกทั้งยังสะท้อนพลังงานของชี่ให้กระจายออกมา แต่ว่าตำแหน่งของกระจกเงาที่จะส่งผลร้ายให้มี ก็เช่นกัน เป็นต้นว่า เมื่อคุณกลับเข้าบ้าน ทันทีที่ก้าวเาเข้าประตูหน้าบ้าน แล้วเห็นเงาของตัวเองที่สะท้อนอยู่ในกระจกบานใหญ่ ซึ่งติดไว้ที่ผนัง เช่นนี้ก็ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะกระจกเงาตรงนั้นจะสะท้อนเอาพลังที่ดี โชคลาภที่ดีกลับออกไปหมด และการติดกระจกเงาหลายๆ บานในห้องเดียวกันก็ไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะภาพที่สะท้อนจะทำให้ดูเหมือนว่ามีเงาผู้คนเต็มไปหมดในห้องนั้น ส่งผลร้ายต่อระบบประสาทและสุขภาพจิต ทำให้ป่วยไข้ไม่สบายได้ง่ายๆอีกด้วย สี ตามหลักจิตวิทยาและทฤษฎีสีนั้นก็บ่องบอกอยู่แล้วว่า “สี” มีอิทธิพลต่ออารมณ์และความรู้สึกของคนเราอย่างมาก สีมีผลทำให้ผนังของห้องเย็นลงหรืออบอุ่นขึ้น หากจะใช้สีให้ถูกต้องจริงๆ ก็ต้องพิจารณาดู “ธาติ” ของเจ้าขอห้องกับห้องด้วยอย่างเช่น ถ้าคุณเป็นคนธาตุน้ำ และคุณใช้สีอ่อนกับห้องของคุณ ก็จะนับว่าสมดุลกันยิ่ง หรืออีกนัยหนึ่งอาจอิงที่ฤดูกาลก็ได้ ผู้ที่เกิดในฤดูหนาว อาจใช้สีสว่างๆ อย่างสีชมพู สีเขียวจัด กับห้องนอนของตน ผู้ที่เกิดในฤดูหนาว อาจใช้สีสว่างๆ อย่างสีชมพู สีเขียวจัด กับห้องนอนของตน ผู้ที่เกิดในฤดูร้อน อาจใช้สีฟ้าอ่อนหรือสีตองอ่อนก็เหมาะสม แต่การใช้สีเดียวกันหมดทั้งบ้าน รวมทั้งเครื่องเรือนต่างๆ เป็นต้นว่า ม่านก็สีเขียวทั้งบ้าน พรมก็สีเขียว โซฟาก็เขียว ผ้าปูที่นอนก็เขียว ผนังห้องก็เขียว อย่างนี้เป็นเรื่องของความชอบความพอใจแต่ไม่ถูกต้องแน่นอน เพราะภายหลังคุณจะรู้สึกถึงความอ่อนเพลียและหมดความกระชุ่มกระชวยลงโดยไม่รู้สาเหตุ ดังนั้นการพิจารณาอิทธิพลของสีกับธาตุหรือวันเกิดของเจ้าของห้องก่อนก็จะเป็นการดี สีแดง คือสีอันเป็นมงคลในหมู่ชาวจีน และหมายถึงความร่าเริงในทางสากล สีม่วง คือสีที่แสดงความรู้สึกเคารพนอบน้อม สีเหลือง คือสีของดวงตะวัน หมายถึงความรุ่งเรืองและอายุยืน สีเขียว คือสีของอารมณ์ริษยา สีแห่งความสงบ-สดชื่น สีขาว คือสีแห่งความหดหู่ในหมู่ชาวจีน แต่หมายถึงความบริสุทธิ์ ในทางสากล แม้ว่าคุณจะเป็นคนที่ชอบสีขาวมากจนทาผนังห้องทุกห้องเป็นสีขาวและเครื่องใช้เครื่องเรือนทั้งหมดเป็นสีขาวก็ตาม ควรจะเพิ่มสีสันอื่นบ้าง เพื่อสร้างความสดใจและส่งผลดีต่อจิตใจซึ่งแตกต่างกับสีขาวล้วนๆ เพียงสีเดียว ภาพเขียน การประดับฝาผนังบ้านด้วยภาพเขียน นอกจากจะให้ความงดงามต่อสายตาแล้ว ยังส่งอิทธิพลอันดีถึงภายในบ้านอีกด้วยภาพวิวทิวทัศน์อันร่มรื่นก็จะช่วยให้บรรยากาศในบ้านอบอุ่นเหมือนฤดูใบไม้ผลิ ภาพแห่งธรรมชาติที่มีสายน้ำ โขดหิน และก้อนเมฆ ภาพทิวไม้และท้องฟ้าก็ถือว่าเป็นภาพที่ดีเช่นเดียวกับภาพวาดดอกไม้และไม้ยืนต้น ถือว่าแทนความมีโชคและความคงทนยั่งยืน ภาพของเทพ ควรเป็นเทพที่คุ้มครองผู้คนจากปีศาจด้วย ลวดลาย ลวดลายต่างๆ นั้นเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายในตัวเอง ลวดลายบนกระเบื้องปูพื้น หรือลวดลายบนวอลเปเปอร์ หรือลวดลายบนริมผ้าม่านหรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ หากเลือกให้ดีจะส่งผลดีตามความหมายของตัวมันเอง กวาง สัญลักษณ์ของความมั่งมี ร่ำรวย กระดองเต่า สัญลักษณ์ของความมีอายุยืนนาน ช้าง สัญลักษณ์ของสติปัญญาและความแข็งแรง แจกัน สัญลักษณ์ของความสงบสุข ดอกเบญจมาศ สัญลักษณ์ของความยั่งยืนคงทน ดอกไม้ สัญลักษณ์ของความสดชื่น มั่งมีศรีสุข เมฆ สัญลักษณ์ของสติปัญญาและพรสวรรค์ มังกร สัญลักษณ์ของอำนาจ เหรียญ สัญลักษณ์ของความมั่งมีศรีสุข บัว สัญลักษณ์ของความซื่อตรงและคงทน ปลา สัญลักษณ์ของความเยือกเย็นและความสำเร็จ เสียง ภายในบ้านหรือบริเวณบ้านควรมีเสียงที่ไพเราะ และดังพอประมาณ ไม่ดังเกินไปจนกลายเป็นเสียงที่รบกวนการประดับระฆังเล็กๆ หรือกระดิ่งนั่นเป็นการปรับปรุงแก้ไขที่ดีประการหนึ่ง เนื่องเพราะพลังงานชี่ที่เฉื่อยจะสลายไปโดยการกระทำของเสียงดนตรีที่ล่องลอยมาในสายลม เป็นการกระตุ้นสภาพอากาศที่หยุดนิ่งให้มีการเคลื่อนไหว ส่งผลให้มีความรื่นรมย์และเกิดความสุขสงบในครอบครัว สิ่งประดับมงคล การตั้งตุ๊กตา ฮก ลก ซิ่ว 3 เทพที่ให้สิริมงคลก็เป็นที่นิยมดีเช่นกัน แต่ควรตั้งไว้โดยหันหน้าเทพทั้ง 3 เข้าหาเก้าอี้ในห้องรับแขกหรือตะอาหาร ไม่ควรตั้งประดับไว้โดยหันหน้าเข้าหาประตูบ้านเด็ดขาดและจะต้องคอยปัดฝุ่นเสมอๆ อย่าให้ฝุ่นจับเพราะจะทำให้เสียความเป็นมงคล จากความหมาย 3 เทพ คือ “ฮก” หมายถึงทรัพย์สิน โชคลาภ “ลก” คือยศศักดิ์ “ซิ่ว” คืออายุ ม้า นกยูง ก็ถือเป็นสัตว์มงคลที่ให้ความสง่างามน่าเกรางขามแก่ห้องนั้นๆ ได้ สิงโต ช้าง ก็เป็นสัตว์มงคลที่ให้พลังอำนาจและความแข็งแกร่ง เขาวัว เขาควาย ก็เป็นสิ่งประดับที่แสดงถึงความแข็งแรง แต่ไม่เหมาะจะประดับในบ้านที่มีเด็กๆ เพราะเป็นสัตว์แห่งความดุร้ายอาจส่งผลในทางลบ เช่น เกิดความรุนแรงในครอบครัว แต่อาจใช้ประดับในร้านค้าที่มีการแข่งขันกันสูง สิ่งประดับประเภทนี้ควรแขวนในตำแหน่งที่ห่างจากห้องน้ำและห้องครัวพอสมควร ตู้ปลา การใช้ตู้ปลาหรืออ่างเลี้ยงปลา ก็นับเป็นศิลปะการตกแต่งบ้านที่ถูกกับหลักฮวงจุ้ยมากทีเดียว เพราะเป็นทฤษฎีของ “การสร้างสิ่งมีชีวิตให้เคลื่อนไหวในความสงบนิ่ง” ปลาเงิน ปลาทอง ให้ความหมายที่ดีเพราะเป็นสัญลักษณ์ของทรัพย์ และยังเป็นสัญลักษณ์ของการปัดเป่าพลังชั่วร้ายให้พ้นผ่านไปอีกด้วย อ่างปลาหรือโถแก้วใบใหญ่ที่มีลักษณะเป็นทรงกลม ถือว่าเป็นรูปทรงที่ดีที่สุด ตู้ปลาควรมีปั๊มลมเพื่อให้ภายในตู้มีการเคลื่อนไหวของน้ำ มิใช่อยู่ในลักษณะ “น้ำตาย” การเริ่มเลี้ยงปลาในครั้งแรก มีจำนวนปลาเท่าใดก็ควรรักษาระดับจำนวนนั้นไว้ ไม่ควรให้ลดลง ควรให้เพิ่มขึ้นจึงจะถือว่าดี หากมีปลาตายก็ต้องรีบช้อนออกทันที ถ้าจะถือเล็ดตัวเลข ก็ควรเลี้ยงปลาจำนวน 9 ตัว ก็จะเป็นมงคล แต่คนธาตุไฟ ไม่ควรตั้งตู้ปลาไว้ในบ้าน และคนธาตุน้ำก็ไม้จำเป็นต้องเลี้ยงปลา เพราะในตู้ปลามีน้ำและตัวเองก็เป็นธาตุน้ำอยู่แล้ว คนธาตุอื่นๆ จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะเลี้ยงปลาสักตู้หนึ่งเพื่อเสริมโชคและสิริมงคล
ที่มา : TLCThai.com

การจัดบ้านปลอดภัยให้เจ้าตัวเล็ก

บ้านไหนมีสมาชิกเป็นเด็กตัวเล็ก ในวัยกำลังหัดคลาน ยืน เดิน คงมีเรื่องให้ปวดหัวไม่เว้นแต่ละวัน ที่ต้องคอยเฝ้าระวังไม่ให้สมาชิกตัวน้อยเคลื่อน ไหวไปชนสิ่งของต่างๆ ภายในบ้าน...
ถ้าจะให้ดี พ่อแม่ ผู้ปกครองควรจะต้องจัดบ้านให้เรียบร้อยกันเสียแต่ต้นมือ เคล็ดลับในการจัดบ้านให้ปลอดภัยสำหรับเด็กๆ มีดังนี้ 1. ไม่ควรปล่อยให้ลูกอยู่ในรถหัดเดินคนเดียว หากที่บ้านมีพื้นต่างระดับ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ 2. บันไดขึ้นลง ควรติดตั้งประตูกั้นขวางทางขึ้นลงไว้เพื่อความปลอดภัย 3. ควรหาพลาสติกป้องกันไม่ให้เด็กแหย่นิ้วเข้าไปในช่องปลั๊กไฟ 4. ไม่ควรปล่อยให้ลูกนั่งเล่นใกล้พัดลม เพราะอาจแหย่นิ้วเข้าไปโดนใบพัด 5. ไม่ควรให้ลูกเข้าใกล้ขณะที่ผู้ใหญ่รีดผ้า เพราะเพียงแค่เผลอนิดเดียว เขาอาจจะคว้าเตารีดลงไปแล้ว 6. เมื่อ ลูกคลานได้คล่อง เขาจะเริ่มจับยึดเฟอร์นิเจอร์เพื่อพยุงตัวเองให้ยืนและเดินได้ จึงควรตรวจดูชั้นวางของและสิ่งต่างๆให้มั่นคงแข็งแรงพอ หากไม่แข็งแรง เวลาเขาจับยึดอาจล้มลงมาทับได้ 7. เก้าอี้ทำงานที่มีขาเป็นล้อเลื่อนควรเก็บให้ห่าง เพราะถ้าเด็กจับยึดเกาะอาจทำให้ลื่นล้ม 8. ไม่ควรวางของโงนเงนได้ง่ายอย่างแจกันดอกไม้ไว้หลังตู้ หากเจ้าตัวเล็กไถรถหัดเดินไปชนตู้อาจทำให้แจกันตกลงมาใส่ได้ 9. เวลาให้ลูกนั่งเก้าอี้สำหรับเด็ก (high chair) ควรรัดเข็มขัดทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย 10. ไม่ควรเปิดประตูห้องต่างๆทิ้งไว้ เพราะอาจหนีบนิ้วเด็กๆ.
ที่มา : นิตยสาร First Year of Life

บ้าน(ใหม่) แบบไหน ปลอดภัยจากน้ำท่วม?

เรียเรียงโดย : รัชด ชมภูนิช คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คําถามที่เกิดขึ้นอย่างมากมายระหว่างวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ นอกเหนือจากการซ่อมแซมบ้านและที่อยู่อาศัยแล้วคงเป็นเรื่ิองที่ว่า เราจะออกแบบบ้านใหม่หรืิอปลูกบ้านใหม่กันอย่างไรดีถึงจะอยู่รอดปลอดภัยจากน้ำท่วมกันอย่างไร

ผมเชื่อว่าหลังจากวิกฤตการณ์นี้ผ่านพ้นไป เราคงได้เห็นนวัตกรรมทางการออกแบบบ้านและที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับสถานการณ์น้ำในรอบใหม่จากบรรดานักออกแบบและผู้เกี่ยวข้องกันอีกมากมายแน่ๆ ครับ ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องดีที่สังคมจะมีโอกาสมากขึ้นในการได้เรียนรู้ ได้เลือกซื้อหาบ้านแบบใหม่ๆ ที่อยู่อาศัยใหม่ๆ ซึ่งแตกต่างจากโจทย์ในการอยู่อาศัยแบบเดิมๆ ที่คุ้นเคยกันมาอย่างแน่นอนครับ

อย่างไรก็ตาม ผมขอนําเสนอหลักการเบื้องต้นสําหรับบ้านคนไทยยุคใหม่ที่สามารถหนีน้ำหรืออยู่ร่วมกับน้ำท่วมได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพ หลายเรื่องก็เป็นการนําภูมิปัญญาแบบไทยๆ ของเราแต่ครั้งอดีตกาลที่เราอาจหลงลืมกันไปมาใช้กันอีกครั้ง

ส่วนหลายเรื่องก็เป็นการปรับแก้ไขจากการใช้งานเดิมๆ ที่มีปัญหาจากสภาพน้ำท่วมที่ผ่านมา เพื่อนําไปประยุกต์ให้เข้ากับรสนิยม สไตล์ ทําเลที่ตั้ง และความชอบส่วนบุคคลของแต่ละท่านได้ แล้วหลังจากนั้นเนื้อหาตอนต่อๆ ไปในหนังสือเล่มนี้จะค่อยๆ ลงรายละเอียดปลีกย่อยในแต่ละส่วน แต่ละองค์ประกอบของการออกแบบบ้านและที่พักอาศัยประเภทต่างๆ ต่อไปครับ

รูปแบบบ้าน : ในภาพรวมของการออกแบบบ้านหากท่านไม่อยากนั่งกังวลหรือนั่งลุ้นกับน้ำว่าจะท่วมหรือไม่ท่วมบ้านท่านในปีต่อๆ ไป แนะนําว่าท่านควรยกระดับพื้นบ้านเป็นใต้ถุนโล่งแบบบ้านเรือนไทยเดิมความสูงตั้งแต่ 1.20-2.00 เมตรตามสภาพระดับน้ำและภูมิประเทศ เพื่อลดผลกระทบจากน้ำท่วมขังและลดความเสียหายของตัวอาคารและทรัพย์สินในฤดูน้ำ นอกจากนี้แล้วการเปิดใต้ถุนโล่งยังลดความเสี่ยงจากปลวกใต้ดินเข้าเยี่ยมเยือนตัวบ้านรวมทั้งท่านยังสามารถบํารุงรักษาและซ่อมแซมท่อและระบบอุปกรณ์ต่างๆ ที่ติดตั้งอยู่ภายใต้พื้นบ้านได้สะดวกยิ่งขึ้นครับ

สําหรับระบบการสัญจรเข้าสู่ตัวบ้านและภายในบ้านนอกเหนือจากบันไดปกติแล้ว ควรพิจารณาใช้ทางลาดเอียง (Ramp) ที่มีความลาดชันตามกฏหมายควบคู่กันไปด้วย (1:12) เพื่อความสะดวกในการเดินเหินของผู้อาศัยที่เป็นผู้สูงอายุและเด็ก รวมทั้งยังทําให้การเคลื่อนย้ายสิ่งของและผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉินทําได้สะดวกเช่นกันครับ

สําหรับจํานวนชั้นของบ้านจากเดิมที่เคยเป็นชั้นเดียวหรือสองชั้น อาจพิจารณาเพิ่มเป็นสองชั้นครึ่งหรือสามชั้นเพื่อให้มีพื้นที่บ้านรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มขึ้นก็เป็นได้ครับ นอกจากนี้ในส่วนชั้นล่างที่เป็นใต้ถุนโล่งอาจออกแบบให้เป็นพื้นที่ใช้งานในช่วงปลอดน้ำได้ครับ โดยเลือกใช้ผนังสําเร็จรูปที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้สอยหรือถอดประกอบได้เมื่ออยู่ในช่วงน้ำหลากหรือน้ำท่วมขังนานๆ ครับ

ส่วนของวัสดุประกอบสําคัญในตัวบ้านทั้งส่วนพื้น ผนัง และฝ้าเพดานยังสามารถใช้วัสดุก่อสร้างแบบเดิมๆ ที่มีขายอยู่ในท้องตลาดได้ แต่ควรพิจารณาความแข็งแรงทนทานจากน้ำท่วมขังนานๆ หรือน้ำกัดเซาะในพื้นที่น้ำหลากซึ่งจะเป็นไปในลักษณะของการเลือกวัสดุปูพื้นบ้านชั้นล่างควรเลือกใช้หินประเภทต่างๆ หรือกระเบื้องมากกว่าไม้ ปาร์เก้และไม้ลามิเนตครับ

ผนังบ้านชั้นล่างหรือจุดที่น้ำท่วมถึงควรเลือกใช้ผนังปูนมากกว่าผนังไม้รวมทั้งหลีกเลี่ยงการตกแต่งประดับผนังชั้นล่างด้วยวัสดุไม้เพื่อลดความเสียหายครับ รวมทั้งควรเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างในส่วนฐานราก คานคอดิน แลวัสดุของตัวบ้านชั้นล่างครับ

ประตู หน้าต่างสําหรับชั้นที่น้ำท่วมถึงควรหลีกเลี่ยงประตูและวงกบไม้เนื้อแข็งเพื่อลดความเสี่ยงจากการความเสียหายจากน้ำท่วม ควรเลือกใช้ประตู หน้าต่างอลูมิเนียมจะทนน้ำท่วมได้ดีกว่าครับ

ระบบไฟฟ้า : ควรแยกวงจรจ่ายกระแสไฟฟ้าแต่ละชั้นออกจากกันอย่างสิ้นเชิงทั้งในแง่ของการติดตั้งและความละเอียดของวงจร เช่น แยกวงจรไฟฟ้าแสงสว่างและอุปกรณ์ไฟฟ้าออกจากระบบปรับอากาศ แยกวงจรควบคุมออกเป็นชั้นและส่วนๆ ตามลักษณะการใช้งาน เพื่อความยืดหยุ่นในการตัดการจ่ายกระแสไฟฟ้าออกจากกัน และควรเดินสายไฟลอยเพื่อความสะดวกในการตรวจสอบและซ่อมแซมครับ

สําหรับชั้นล่างควรเดินระบบสายไฟฟ้าสํารองเพิ่มเติมเพื่อแยกใช้งานในกรณีฉุกเฉิน เพื่อสํารองสําหรับการใช้ไฟฟ้าแสงสว่าง อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ นอกจากนี้ในจุดที่มีความสําคัญของบ้านชั้นล่างอาจพิจารณาเลือกใช้สายไฟฟ้าประเภททนน้ำและฝังดินได้เพื่อความมั่นใจในการใช้งานขณะน้ำท่วมขังครับ รวมทั้งการเดินสายโทรศัพท์ในบ้านก็ต้องพิจารณารูปแบบและตําแหน่งเชื่อมต่อที่มีความเสี่ยงจากน้ำท่วมน้อยที่สุดครับ

สําหรับระดับการติดตั้งปลั๊กและสวิทช์บ้านชั้นล่างที่มีความเสี่ยงจากน้ำท่วมถึง ควรหลีกเลี่ยงการติดตั้งอุปกรณ์เหล่านี้ในระดับต่ําใกล้พื้นแบบเดิม ควรติดตั้งสูงจากระดับพื้นประมาณ 1.20-1.40 เมตรเพื่อลดความเสี่ยงจากความเสียหายของอุปกรณ์จากน้ำท่วมขังครับ

ระบบประปา : แนวทางการเดินระบบประปาควรแยกการควบคุมแต่ละชั้นออกจากกันเช่นเดียวกับระบบไฟฟ้าโดยเฉพาะชั้นล่างๆ ตัวท่อไม่ว่าจะเป็นท่อน้้ําหรือท่อน้ำโสโครกควรติดตั้งแบบเดินลอยสูงจากพื้นประมาณ 0.40-0.50 เมตร เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบและซ่อมแซมทั้งขณะน้ำท่วมและช่วงปกติครับ ควรติดตั้งท่ออากาศในท่อน้ำโสโครกให้ครบทุกจุดและวางให้ปลายท่ออากาศยาวพ้นระดับน้ำท่วมอย่างเพียงพอ เพื่อรักษาสภาพการใช้งานให้มีประสิทธิภาพทั้งในภาวะปกติและน้ำท่วมครับ รวมทั้งควรเลือกใช้ท่อ PE แทนท่อ PVC เนื่องจากตัวท่อจะมีความยืดหยุ่นและทนทานต่อความเสียหายได้ดีกว่าครับ

นอกจากนี้การติดตั้งปั๊มน้ำควรติดตั้งสูงจากระดับพื้นชั้นล่างอย่างน้อย 0.50 เมตรหรือเหนือระดับน้ำท่วมขังเพื่อให้ระบบประปายังใช้งานได้เป็นปกติตลอดเวลาขณะน้ำท่วม และยังลดความเสี่ยงจากความเสียหายของอุปกรณ์ครับ

สําหรับตําแหน่งการติดตั้งถังเก็บน้ำในบ้านควรหลีกเลี่ยงการฝังดินเพื่อป้องกันน้ำท่วมไหลเข้าสู่ถังเก็บน้ำซึ่งจะมีผลต่อสุขอนามัยในการใช้งาน ควรเลือกใช้ถังเก็บน้ำสําเร็จรูปแบบวางตั้งพื้นจะมีความเสี่ยงจากน้ำท่วมไหลย้อนเข้าฝาถังได้ดีกว่า เนื่องจากระดับฝาถังจะอยู่สูงกว่าระดับน้ำท่วมขังมากกว่าการติดตั้งถังแบบฝังดินครับ

ระบบบําบัดน้ำเสียควรเลือกใช้ถังบําบัดสําเร็จรูปมากกว่าบ่อเกรอะ บ่อซึมเพราะจะทํางานได้ดีกว่าในช่วงน้ำท่วมขัง และมีระบบการป้องกันน้ำท่วมไหลเข้าฝาถังบําบัด นอกจากนี้ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมควรพิจารณาติดตั้งถังบําบัดน้ำเสียสําเร็จรูปสํารองสําหรับใช้งานในช่วงน้ำท่วมเพิ่มเติมตั้งอยู่ที่ระดับดินเพื่อการใช้งานได้อย่างปกติในขณะน้ำท่วมครับ

นอกจากนี้การติดตั้งปั๊มน้ำควรติดตั้งไว้ที่ระดับชั้นสองเพื่อลดความเสียหายของอุปกรณ์และการใช้งานในช่วงน้ำท่วมได้ครับ

ระบบท่อระบายน้ำควรพิจารณาจัดทําพื้นที่เก็บกักน้ำหรือ Sump Area เพื่อเป็นพื้นที่รองรับน้ำในจุดที่ต่ําที่สุดของท่อระบายน้ำภายในบ้านและเตรียมการติดตั้งปั๊มน้ำเพื่อการสูบน้ำท่วมขังออก และติดตั้งประตูน้ำเพื่อควบคุมน้ำไหลย้อนกลับเข้าท่อระบายน้ำภายในและตัวบ้าน จะช่วยแก้ปัญหาจากสภาพน้ำท่วมขังในบริเวณบ้านได้ครับ

ระบบปรับอากาศ : สําหรับอุปกรณ์ปรับอากาศที่ใช้งานในบ้านทุกชั้น ไม่ควรวางคอยล์ร้อนหรือคอนเดนเซอร์ไว้ที่ระดับพื้นดิน อย่างน้อยควรติดตั้งที่ระดับพื้นชั้นสองหรือติดตั้งบนตะแกรงเหล็กที่รับน้ำหนักตัวเครื่องได้ในระดับพื้นชั้นสองขึ้นไป เพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายของอุปกรณ์จากน้ำท่วมขัง

เฟอร์นิเจอร์ : การเลือกใช้งานเฟอร์นิเจอร์ในชั้นล่างหรือชั้นที่มีความเสี่ยงจากน้ำท่วม ควรหลีกเลี่ยงเฟอร์นิเจอร์แบบ Built-in หรือควรเป็นรูปแบบที่ท่านสามารถถอดประกอบได้ หรือหากจําเป็นควรหลีกเลี่ยงการออกแบบให้ตัวเฟอร์นิเจอร์ Built-in ยาวจรดพื้น ควรเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัวเป็นหลักเพื่อความสะดวกในการขนย้ายและห่อหุ้มป้องกันน้ำได้สะดวกกว่าครับ

อุปกรณ์คู่บ้าน : สิ่งที่ต้องเตรียมไว้คู่กับบ้านใหม่ในยุคน้ำท่วมทุกบ้าน ควรมีอุปกรณ์ป้องกันน้ำเข้าบ้านเบื้องต้นที่สามารถนํามาใช้งานได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นถุงห่อรถ แผ่นพลาสติกผืนใหญ่กันน้ำ ถุงกันน้ำขนาดใหญ่ ปืนยิงซิลิโคน วัสดุอุดต่างๆ เครื่องสูบน้ำ รวมทั้งอุปกรณ์ยังชีพในขณะเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ไฟฉาย เชือก เสื้อชูชีพ รองเท้าบูทกันน้ำ ยา อาหารแห้ง เชื้อเพลิง ฯลฯ ก็ควรจัดเตรียมไว้ทั้งในระดับตัวบุคคลและสําหรับครอบครัวในช่วงเทศกาลน้ำหลากในครั้งต่อๆ ไปครับ
ที่มา http://www.prasong.com

การรักษาความปลอดภัย "ป้องกันโจรขโมยขึ้นบ้าน

1.ประตู
ประตูควรจะมีความแน่นหนา ใช้วัสดุที่แข็งแรงทนทานยากต่อการทำลาย ช่องว่างระหว่างบานประตูกับวงกบไม่ควรห่างกันเกิน 1/8 นิ้ว
บานพับประตูจะต้องอยู่ภายในอาคาร เพื่อยากจากการถอดจากด้านนอก ประตูที่เป็นประตูเลื่อน ควรจะเอาไม้มาวางในล่องรางของประตูเวลาที่เราปิด
เพื่อป้องกันการบุกรุกอีกชั้นหนึ่ง เนื่องจากประตูเลื่อนเป็นประตู ที่งัดแงะ ได้ง่ายที่สุด

2.หน้าต่าง
หน้าต่างที่อยู่ชั้นล่าง ของตัวอาคาร ควรจะมีล็อคที่ดี เนื่องจาก เป็นทางที่ผู้บุกรุก จะเข้ามาได้ง่ายอีกทางหนึ่ง หากจำเป็นให้คำนึงถึง การติดลูกกรง แต่ต้องให้แน่ใจว่า จะสามารถถอดลูกกรงได้ หากมีเหตุอัคคีภัย หรือ เหตุฉุกเฉินอื่นๆ หน้าต่าง glass block จะให้ความปลอดภัยที่ดี สำหรับหน้าต่างในห้องใต้ดิน ล็อคของประตูควรจะอยู่ห่างจากหน้าต่างอย่างน้อย 40 นิ้ว เพื่อมิให้สามารถเอื้อมมา เปิดล็อคจากหน้าต่างได้

3.ล็อค
ให้แน่ใจว่าประตูทุกบานที่เปิดออกไปข้างนอกมีล็อคที่ดี ประตูมุ่งลวดและประตูกันพายุ ประตูเฉลียงแม้ว่าจะอยู่ชั้น 2 ก็ควรจะมีล็อคอย่างหนาแน่น ควรปิดล็อคทุกครั้งที่ออกจากบ้าน เนื่องจาก 50% ของการบุกรุก เกิดจากการบุกรุกผ่านประตูที่ไม่ได้ล็อค

4.กุญแจ
อย่าซ่อนกุญแจไว้ข้างนอก เช่น ใต้กระถางต้นไม้ ถ้าจำเป็น ควรฝากกุญแจไว้กับเพื่อนบ้าน ที่ไว้ใจได้จะดีกว่า
อย่าให้กุญแจไว้กับช่าง หรือ คนที่มาส่งของ อย่าเขียนชื่อ ที่อยู่ไว้กับพวงกุญแจ หรือ กุญแจดอกไหนใช้กับห้องอะไร ถ้าท่านทำกุญแจหาย ผู้ที่เก็บได้อาจเป็นขโมย ก็จะรู้ว่าเป็นกุญแจของบ้านใด ถ้าท่านย้ายเข้าบ้านใหม่ หรือทำกุญแจหาย ควรเปลี่ยนกุญแจทั้งหมดทันที

5.สิ่งของที่อยู่นอกบ้าน
สิ่งของที่วางอยู่ในสนามหญ้า เป็นเป้าหมายที่ง่ายสำหรับการขโมย การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การเก็บสิ่งของพวกนี้ไว้ในห้องเก็บของ หรือโรงรถที่ล็อคได้ ถ้าจำเป็นที่จะต้องวางสิ่งของไว้นอกบ้าน เช่น เครื่องตัดหญ้า หรือเตาบาร์บิคิว ควรจะหาอะไรคลุมให้มิดชิด ไม่ให้เป็นเป้าสายตา ประตูรั้วควรจะปิดด้วยล็อคอย่างดี

6.พุ่มไม้และไฟ
เฉลียงและทางเข้าอื่นๆ ควรจะติดไฟให้สว่าง บ้านที่ติดไฟสว่าง จะปลอดภัยกว่าบ้านที่ปิดไฟมืด หรือไม่มีไฟ พุ่มไม่ที่ใหญ่โตเกินไป
จะทำให้ขโมยมีที่ซุกซ่อน ควรจะตัดเล็มให้ขนาดพอสมควร พุ่มไม้ที่มีหนาม เช่น ตะบองเพชร จะช่วยป้องกันได้ถ้าปลูกไว้ข้างใต้หน้าต่าง
ให้ใช้กรวดขนาดใหญ่ไว้ข้างใต้หน้าต่าง เพื่อให้เกิดเสียง เมื่อมีคนเหยียบเดิน ย่ำ

7.การใช้เทคโนโลยี
ทำให้บ้านของท่านเหมือนมีคนอยู่ตลอดเวลา เวลาออกไปข้างนอกในตอนกลางคืน ให้เปิดไฟและวิทยุทิ้งไว้ อย่าเปิดไฟดวงเล็กตามทางเดิน หรือมุมห้อง เนื่องจากการกระทำเช่นนี้ จะแสดงให้เห็นว่าไม่มีใครอยู่บ้าน หรี่เสียงเรียกเข้าของโทรศัพท์ให้ต่ำสุด ถ้าขโมยได้ยินเสียงโทรศัพท์ดัง แล้วไม่มีคนรับสาย เขาจะรู้ได้ทันทีว่าไม่มีคนอยู่บ้าน ถ้าท่านไม่อยู่บ้านในตอนกลางวัน หรือไปต่างจังหวัด ท่านควรจะใช้เครื่อง เปิด-ปิดอัตโนมัติ เพื่อเปิด- ปิดไฟและวิทยุตามเวลาที่กำหนด

8.อย่าให้ความช่วยเหลือขโมย...
ควรจะล็อคบันไดและเครื่องมือไว้ให้เรียบร้อย อย่าช่วยขโมยโดยวางเครื่องมือไว้ให้เขาใช้ ถ้าท่านได้ซื้อทีวี เครื่องเสียง หรืออุปกรณ์ใช้สอยอื่นๆมาใหม่ อย่าโยนกล่อง ทิ้งไว้ในถังขยะ หน้าบ้าน เพราะจะเป็นเหตุ จูงใจให้น่าเข้ามาขโมย ถ้าไม่อยู่บ้านนานๆ ควรให้เพื่อนบ้าน ที่ไว้ใจได้ช่วยเก็บจดหมาย หรือหนังสือพิมพ์ไว้ให้ อย่าทิ้งโน๊ตไว้ที่ประตู ว่าไม่อยู่บ้าน และอย่าฝากข้อความไว้ ในเครื่องรับโทรศัพท์ว่าจะไม่อยู่บ้าน หรือกำลังอยู่นอกบ้าน

9.ควรติดตั้งอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย
หากคุณพอที่จะมีเงินอยู่บ้าง สิ่งที่สำคัญในปัจจุบันนี้เลยคืออุปกรณ์รักษาความปลอดภัย เพราะหัวขโมยสมัยนี้มักจะมีวิธีการที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น
ซึ่งทำให้คุณไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ขโมย จะเข้ามาเมื่อไหร่ ระบบรักษาความปลอดภัยที่เห็นกันโดยทั่วไปก็จะเป็นชุด กล้องวงจรปิด และอุปกรณ์/
บันทึกสัญญาณ เพื่อทำหน้าที่เป็นตำรวจประจำบ้านของคุณ
ที่มา http://www.py-security.com

ข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2550

ในข้อกำหนดฉบับใหม่นี้ ได้มีการปรับปรุง เพิ่มเติมข้อกำหนดในหลายเรื่อง เช่น

1. ขนาดที่ดินแปลงย่อย - กรณีเพื่อการจำหน่ายเฉพาะที่ดิน หรือที่ดินพร้อมบ้านเดี่ยว จะต้องมีความยาวไม่ต่ำกว่า 12.00 เมตร (เดิม 10.00 เมตร) และกรณีที่ดินพร้อมบ้านแฝด ต้องมีความกว้างไม่ต่ำกว่า 9.00 เมตร (เดิม 8.00 เมตร)

2. ปรับปรุงเพิ่มเติมข้อกำหนดในเรื่องระบบการระบายน้ำ เช่น
2.1 กรณีมีระบบป้องกันน้ำท่วมแบบ Polder System กำหนดความสูงและลักษณะของคันกั้นน้ำถาวร
2.2 กำหนดว่าคุณภาพน้ำทิ้งที่ระบายสู่แหล่งรองรับน้ำทิ้ง ต้องเป็นไปตามมาตรฐานน้ำทิ้งฉบับล่าสุดของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ง แวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากที่ดินจัดสรร
2.3 กำหนดเกณฑ์การคำนวณปริมาณน้ำท่า (Runoff) ของระบบการระบายน้ำ
2.4 กำหนดวิธีการคำนวณขีดความสามารถการระบายน้ำของท่อระบายน้ำ
2.5 บ่อสูบหรือสถานีสูบน้ำที่บรรจบกับระบบระบายน้ำสาธารณะหรือแหล่งรองรับน้ำสาธารณะ ให้มีประตูน้ำ
2.6 บ่อผันน้ำลงสู่ทางน้ำสาธารณะต้องจัดให้มีตะแกรงดักขยะ
2.7 รายการคำนวณระบบการระบายน้ำ มีรายการเพิ่มเติมที่ต้องนำเสนอด้วย ได้แก่ กราฟน้ำฝนออกแบบ, สูตรที่ใช้คำนวณน้ำฝน - น้ำท่า, สูตรที่ใช้คำนวณชลศาสตร์การไหลของน้ำในท่อระบายน้ำ, ความลาดเอียงของเส้นชลศาสตร์การไหล, ขนาดของบ่อสูบหรือสถานีสูบ (ถ้ามี), แสดงปริมาณน้ำท่าที่ระบายออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ, ระดับน้ำสูงสุดของแหล่งรองรับน้ำทิ้งของระบบการระบายน้ำ เป็นต้น

3. ระบบบำบัดน้ำเสีย กรณีที่ดินจัดสรรต่ำกว่า 100 แปลง อนุโลมให้ใช้มาตรฐาน ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากอาคารบางประเภทและบางขนาด สำหรับอาคารประเภท ค. มาใช้แทนได้

4. ถนนสาธารณประโยชน์ที่เป็นทางเข้าออกของโครงการ ต้องมีความกว้างของผิวจราจรไม่ต่ำกว่า 5.00 เมตร หรือเขตทางไม่ต่ำกว่า 6.00 เมตรและผิวจราจรต้องไม่ต่ำกว่า 5.00 เมตร

5. ปรับปรุงข้อกำหนดเรื่องถนนปลายตันให้ชัดเจนและเหมาะสมขึ้น จากเดิมกำหนดเพียงว่าให้มีที่กลับรถทุกๆ ระยะไม่เกิน 100 เมตรกับที่ปลายถนน ทำให้ถนนที่ยาวเกิน 100 เมตร ไม่มาก จะต้องมีที่กลับรถถึง 2 แห่ง ในข้อกำหนดใหม่ กำหนดว่า ถ้าเศษของ 100 เมตร หากไม่ถึง 50 เมตร ก็สามารถทำที่กลับรถที่ปลายเพียงตำแหน่งเดียวก็ได้

6. ปรับปรุงมาตรฐานที่กลับรถ กรณีเป็นวงเวียน ผิวจราจรต้องกว้างไม่ต่ำกว่า 6.00 เมตร (เดิม 4.00 เมตร), กรณีเป็นรูปตัว T หรือตัว Y เฉพาะที่จัดทำที่บริเวณปลายตัน ให้มีความยาวของไหล่ตัวทีด้านละไม่ต่ำกว่า 2.50 เมตร (เดิม 5.00 เมตร ทุกกรณี)

7. ทางเดินและทางเท้า เฉพาะส่วนที่เป็นทางเดินและทางเท้าสุทธิที่กำหนดไว้ ให้ใช้เพื่อสัญจรเท่านั้น ห้ามใช้ประโยชน์อย่างอื่นที่ก่อให้เกิดความไม่สะดวก

8. สวน สนามเด็กเล่น หรือสนามกีฬา ได้กำหนดให้ชัดเจนขึ้นในเรื่องที่ตั้ง ขนาด และรูปทรงว่าให้เหมาะสมสะดวกแก่การเข้าใช้ประโยชน์ และมีระยะแต่ละด้านไม่ต่ำกว่า 10.00 เมตร นอกจากนั้นยังกำหนดให้ปลูกไม้ยืนต้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่สวน ตามหลักวิชาการด้านภูมิสถาปัตยกรรม และพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นสวน สนามเด็กเล่น หรือสนามกีฬา จะต้องปลอดจากภาระผูกพันและการรอนสิทธิใดๆ

9. กรณีโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องจัดให้มีพื้นที่สำหรับจัดตั้งโรงเรียนอนุบาล กำหนดเพิ่มว่า ต้องจัดทำให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี

10. กรณีผู้จัดสรรที่ดินมีความประสงค์จะให้มีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร หรือนิติบุคคลตามกฎหมายอื่น ผู้จัดสรรที่ดินจะต้องจัดหาพื้นที่สำหรับเป็นที่ตั้งสำนักงานนิติบุคคลหมู่ บ้านจัดสรร และกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับกรณีจัดที่ดินเปล่า, ที่ดินพร้อมอาคาร, และพื้นที่ส่วนอื่นที่ได้จัดไว้ให้เป็นที่ตั้งสำนักงาน ซึ่งข้อกำหนดนี้ก็จะเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางซึ่งได้ ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ไม่นาน และคณะกรรมการจัดสรรที่ดินของจังหวัดต่างๆ ได้เริ่มเพิ่มเติมลงในข้อกำหนดจัดสรรที่ดินสำหรับจังหวัดของตนอยู่ในขณะนี้
ที่มา http://www.sunsrang.com

ก่อนซื้อที่ดินตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายผังเมือง

ตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายผังเมืองว่าที่ดินหรืออาคารที่ก่อสร้าง
สามรถดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งกฎหมายผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครแบ่งการใช้ที่ดินออกเป็น 13 ประเภท คือ
1. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง)
2. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม)
3. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีน้ำตาล)
4. ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม (สีแดง)
5. ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า (สีม่วง)
6. ที่ดินประเภทคลังสินค้า (สีเม็ดมะปราง)
7. ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมเฉพาะกิจ (สีม่วงอ่อน)
8. ที่ดินประเภทชนบทและอุตสาหกรรม (สีเขียว)
9. ที่ดินประเภทสถาบันการศึกษา (สีเขียวมะกอก)
10. ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียวมีครอบและเส้นทะแทงเขียว)
11. ที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย (สีน้ำตาลอ่อน)
12. ที่ดินประเภทสถาบันศาสนา (สีเทาอ่อน)
13. ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ (สีน้ำเงิน)

แต่ละประเภทการใช้ที่ดินมีข้อกำหนดการใช้ต่างกันควรต้องศึกษารายละเอียดก่อนการตัดสินใจซื้อทีดิน

ที่มา http://www.sunsrang.com

คำนวณปริมาณ ไม้ฝา ตราเฌอร่า

ไม้ฝา ตราเฌอร่า
เครื่องมือคำนวณปริมาณการใช้ 
http://www.mahaphant.com/th/design-ideas/calculation-tools.jsp

ที่มา http://www.mahaphant.com

การปลูกต้นไม้บริเวณบ้าน

ไม้มงคล ๙ ชนิด
คติความเชื่อการปลูกสร้าง / การปลูกต้นไม้บริเวณบ้าน
ไม้มงคลที่ใช้ในพิธีวางศิลาฤกษ์นี้ ใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ก่อนทำการก่อสร้างนิยมทำพิธีวางศิลาฤกษ์ โดยใช้ไม้มงคล ๙ ชนิด ปักกับพื้นดิน ไม้ทั้ง ๙ ชนิด มีชื่อเป็นมงคลนาม ได้แก่ ไม้ราชพฤกษ์ ไม้ขนุน ไม้ชัยพฤกษ์ ไม้ทองหลาง ไม้ไผ่สีสุก ไม้ทรงบาดาล ไม้สัก ไม้พะยูง และไม้กันเกรา
๑. ไม้ราชพฤกษ์ หมายถึง ความเป็นใหญ่และมีอำนาจวาสนา

ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้ต้น ผลัดใบ สูง 8 – 15 เมตร
นิเวศวิทยา ถิ่นกำเนิดเอเชียแถบร้อน ขึ้นตามป่าเบญจพรรณแล้งทั่วไป
ออกดอก กุมภาพันธ์ – พฤษภาคม ทิ้งใบก่อนออกดอก
ขยายพันธุ์ โดยเมล็ด วิธีการเตรียมเมล็ดก่อนเพาะ นำเมล็ดมาตัดหรือทำให้เกิด บาดแผลที่ปลายเมล็ดแล้ว แช่น้ำไว้ 12 ชั่วโมง หรือแช่กรดซัลฟูริคเข้มข้น 1.84 ประมาณ 15 นาที แล้วล้างน้ำให้สะอาด แช่น้ำทิ้งไว้ 12 ชั่วโมง วิธีนี้สะดวกแต่อันตราย และอีกวิธีหนึ่งคือ ต้มน้ำให้เดือดแล้วเทลงในเมล็ด ทิ้งไว้ข้ามคืน ทั้ง 2 วิธีนี้จะทำ ให้เมล็ดดูดน้ำเข้าไปและพร้อมที่จะงอก
วิธีเพาะ อาจหยอดลงในถุงดินที่เตรียมไว้หรือจะเพาะในแปลงเพาะแล้วย้ายชำกล้าในภายหลัง ควรให้เมล็ดอยู่ใต้ผิวดิน 3-5 มิลลิเมตร รดน้ำให้ชุ่ม เมล็ดจะงอกภายใน 1-2 สัปดาห์
ประโยชน์ ราก ฝนทาแก้กลาก เป็นยาระบาย รากและแก่นเป็นยาขับพยาธิ เปลือกและไม้ใช้ฟอกหนัง และใช้บดทาผื่นตามร่างกาย เนื้อไม้สีแดงแกมเหลืองทนทานใช้ทำเสา ล้อเกวียน ใบต้มกินเป็นยาระบาย ดอกแก้ไข้ ฝักเนื้อในรสหวาน เป็นยาระบาย ช่วยบรรเทาการแน่นหน้าอก แก้ขัดข้อ

๒. ไม้ขนุน หมายถึง หนุนให้ดีขึ้นร่ำรวยขึ้น ทำอะไรจะมีผู้ให้การเกื้อหนุน
ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้ต้น ขนาดใหญ่ สูง 15 – 30 เมตร ลำต้นและกิ่งเมื่อมีบาดแผลจะมีน้ำยางสีขาวข้นคล้ายน้ำนมไหล
นิเวศวิทยา ถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดียเป็นพืชเศรษฐกิจเมืองร้อนที่ให้ผลมีขนาดใหญ่ที่สุดสามารถ บริโภคทั้งผลดิบและผลสุก นอกจากนี้ยังนำไปแปรรูปเป็นอาหารชนิดต่างๆ มีปลูกทั่วทุกภาคของประเทศไทย
ออกดอกจะออกปีละ 2 ครั้ง คือ ช่วงเดือนธันวาคม – มกราคม และเมษายน – พฤษภาคม
ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ติดตา และทาบกิ่ง
ประโยชน์ ผลอ่อน ใช้ปรุงอาหาร ผลสุกเยื่อหุ้มเมล็ดมีรสหวาน เมล็ดปรุงอาหาร เนื้อไม้ ใช้ทำพื้นเรือนและสิ่งก่อสร้าง ครก สากกระเดื่อง หวี โทน รำมะนา ระนาด รากและแก่น ให้สีเหลือง ถึงเหลืองอมน้ำตาล ใช้ย้อมผ้าและแพรไหม รากนำมาปรุงเป็นยาแก้ท้องร่วง แก้ไข้ ใบ เผาไฟกับซังข้าวโพดให้ดำเป็นถ่าน แล้วใส่รวมกับก้นกะลามะพร้าวขูด โรยรักษาบาดแผล
๓. ไม้ชัยพฤกษ์ หมายถึง การมีโชคชัย ชัยชนะ ชนะศัตรู ชนะอุปสรรคต่างๆ

ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้ต้น สูงถึง 15 เมตร ลำต้นสีน้ำตาล ทรงพุ่มใบกลมคล้ายร่ม เมื่อต้นยังอ่อนมีหนาม ใบประกอบรูปขนนกปลายคู่ เรียงสลับ มีใบย่อย 5 – 15 คู่ แผ่นใบรูปไข่แกมรูปรี หรือรูปขอบขนาน ขนาดกว้าง 1.5 – 2.5 เซนติเมตร ยาว 2.5 – 5 เซนติเมตร ปลายใบมน โคนใบกลม ผิวใบด้านล่างมีขนละเอียด
ดอก เริ่มบานสีชมพู แล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม ใกล้โรยดอกสีขาว ออกเป็นช่อตามกิ่งยาว 5 – 16 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงสีแดง หรือแดงปนน้ำตาล ดอกเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5 เซนติเมตร ผลเป็นฝักกลมสีดำ ยาว 20 – 60 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 – 1.5 เซนติเมตร เมื่อแก่ไม่แตกมีเมล็ดจำนวนมาก
นิเวศวิทยา ถิ่นกำเนิดอินโดนีเซีย
ออกดอก กุมภาพันธ์ – เมษายน
ขยายพันธุ์ โดยใช้เมล็ด วิธีเพาะเช่นเดียวกับราชพฤกษ์
ประโยชน์ เนื้อในฝักเป็นยาระบายอ่อน ๆ ปลูกประดับ ดอกสวยงาม
๔. ไม้ทองหลาง หมายถึง การมีทรัพย์สินเงิน มีเงินทองใช้ไม่ขัดสน

ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้ต้นผลัดใบ สูง 5 – 10 เมตร ตามกิ่งต้นอ่อนมีหนาม เรือนยอดเป็นพุ่มกลม โปร่ง
นิเวศวิทยา พบทั่วไปในย่านเอเชียเขตร้อนและอบอุ่น
ออกดอก มกราคม – กุมภาพันธุ์ ขยายพันธุ์ โดยเมล็ดและปักชำ
ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ
๕. ไผ่สีสุก หมายถึง มีความสุขกายสบายใจ ไร้ทุกข์โศกโรคภัย

ข้อมูลทางวิชาการ
เป็นไม้ไผ่ประเภทมีหนาม ความยาวลำต้นสูง 10 – 18 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 8 – 12 เซนติเมตร แข็ง ผิวเรียบเป็นมัน ข้อไม่พองออกมา กิ่งมากแตกตั้งฉากกับลำต้น หนามโค้งออกเป็นกลุ่ม ๆ ละ 3 อัน อันกลางยาวกว่าเพื่อน ลำมีรูเล็กเนื้อหนา ใบมีจำนวน 5 – 6 ใบ ที่ปลายกิ่ง ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่มกว้าง ๆ หรือตัดตรง แผ่นใบกว้าง 0.8 – 2 เซนติเมตร ยาว 10 – 20 เซนติเมตร ใต้ใบมีสีเขียวอมเหลือง เส้นลายใบมี 5 – 9 คู่ ก้านใบสั้น ขอบใบสาก คลีบใบเล็กมีขน
นิเวศวิทยาเชื่อกันว่าเป็นไม้ดั้งเดิมในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก หรือหมู่เกาะแปซิฟิคตอนใต้ ในประเทศไทย มักจะขึ้นอยู่ตามที่ราบลุ่มริมห้วย แม่น้ำ และมักปลูกรอบ ๆ บ้านในชนบท
ขยายพันธุ์ ปักชำ
ใช้ท่อนไม้ไผ่มาตัดทอนเป็นท่อน ๆ ให้ติดปล้อง 1 ปล้อง (ข้อตา) นำมาปักไว้ในวัสดุชำเอียงประมาณ 45 องศา เรียงเป็นแถวเป็นแนวเดียวกันเพื่อสะดวกในการดูแลรักษา เติมน้ำลงในกระบอกไม้ไผ่ให้เต็ม ประมาณ 4 สัปดาห์ หน่อจะแตกออกจากตาไม้ไผ่ และรากจะงอกออกจากปุ่มใต้ตา หรือถ้าตัดทอนท่อนไม้ไผ่ให้ตัดข้อตา 2 ข้อ แล้วเจาะตรงกลางระหว่างข้อตา สำหรับเติมน้ำลงไปในปล้อง นำไปวางนอนในวัสดุชำแนวราบก็ได้เช่นกัน
ประโยชน์
สมัยก่อนมักปลูกไว้รอบบ้านเป็นรั้วกันขโมย กันลม หน่อเมื่ออยู่ใต้ดินทำอาหารได้มีรสดี เมื่อโผล่พ้นดินประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร มักเอาไปทำหน่อไม้ดอง จะให้รสเปรี้ยว สีขาว และเก็บได้นาน โดยไม่เปื่อยเหมือนหน่อไม้ชนิดอื่น เนื้อไม้หนาแข็งแรง ใช้สร้างบ้านในชนบทได้ทนทาน ทำเครื่องจักสาน เครื่องใช้ในการประมง ใช้ในการทำนั่งร้านก่อสร้าง ส่วนโคนนิยมใช้ทำไม้คานหาบหามและใช้ทำกระดาษให้เนื้อเยื่อสูง

๖. ไม้ทรงบาดาล หมายถึง ความมั่นคง หรือทำให้บ้านมั่นคงแข็งแรง
ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้พุ่ม สูง 3 – 5 เมตร ใบ ประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อย 4 – 6 คู่ รูปไข่หรือรูปไข่แกมขอบขนาน ขนาดกว้าง 1 – 2 เซนติเมตร ยาว 2.5 – 4 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน ดอก สีเหลืองออกตามซอกใบ และปลายกิ่ง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เมื่อบานเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 – 3 เซนติเมตร
ผล เป็นฝักแบน กว้าง 1 – 1.5 เซนติเมตร ยาว 7 – 20 เซนติเมตร
นิเวศวิทยา ถิ่นกำเนิดเอเชียเขตร้อนและจาไมก้า ออกดอก ตลอดปี
ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด วิธีเตรียมเมล็ด ก่อนเพาะ นำเมล็ดมาแช่น้ำร้อน 80 – 90 องศาเซลเซียส แล้วทิ้งไว้ให้เย็น 16 ชั่วโมง
วิธีเพาะเมล็ด เช่นเดียวกับราชพฤกษ์
ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ
๗. ไม้สัก หมายถึง ความมีศักดิ์ศรี ความมีเกียรติ อำนาจบารมี คนเคารพนับถือและยำเกรง
ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้ต้น ขนาดใหญ่ผลัดใบในฤดูร้อนลำต้นเปลาตรงเปลือกเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็ก ๆ สีเทา โคนเป็นพูพอนต่ำ ๆ เรือนยอดเป็นพุ่มทรงกลมค่อนข้างทึบ เปลือกสีเทา เรียบ หรือแตกเป็นร่องตื้นตามความยาวลำต้น
นิเวศวิทยา ขึ้นเป็นหมู่ในป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือ บางส่วนในภาคกลางและภาคตะวันตก มีอยู่บ้างทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ออกดอก ออกดอกและเป็นผลเดือน มิถุนายน – ตุลาคม
ขยายพันธุ์ โดยเมล็ด ปักชำ
ประโยชน์ เนื้อไม้มีลายสวยงามแข็งแรงทนทาน เลื่อย ผ่า ไสกบตบแต่ง และชักเงาได้ง่าย ใช้ทำเครื่องเรือนและในการก่อสร้างบ้านเรือน ปลวก มอด ไม่ชอบทำลายเพระมีสารพวกเตคโตคริโนน
๘. ไม้พะยูง หมายถึง การพยุงฐานะให้ดีขึ้น

ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้ต้น ผลัดใบ สูง 15 – 25 เมตร เปลือกสีเทาเรียบเรือนยอดทรงกลมหรือรูปไข่
นิเวศวิทยา ขึ้นในป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณชื้น ทั่ว ๆ ไป ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
ออกดอก พฤษภาคม – กรกฎาคม ฝักแก่ กรกฎาคม – กันยายน
ขยายพันธุ์ โดยนำเมล็ดแช่ในน้ำเย็น 24 ชั่วโมง แล้วเพาะในกะบะเพาะ โดยหว่านให้กระจายทั้งกะบะเพาะแล้วโรยทรายกลบบาง ๆ รดน้ำให้ชุ่ม เมล็ดจะงอกภายใน 7 วัน เมื่อกล้าไม้อายุ 10-14 วัน ความสูงประมาณ 1 นิ้ว มีใบเลี้ยง 1 คู่ สามารถย้ายชำในถุงหรือภาชนะที่เตรียมไว้ได้
ประโยชน์ เนื้อไม้สีแดงอมม่วง ถึงแดงเลือดหมูแก เนื้อละเอียด แข็งแรงทนทาน ขัดและชักเงาได้ดี ใช้ทำเครื่องเรือน เกวียน เครื่องกลึงแกะสลัก ทำเครื่องดนตรี เช่น ซอ ขลุ่ย ลูกระนาด

๙. ไม้กันเกรา หมายถึง ป้องกันภัยอันตรายต่างๆ หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ตำเสา ซึ่งอาจหมายถึงทำให้เสาเรือนมั่นคง

ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้ต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15 – 25 เมตร เปลือกสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นร่องลึกไม่เป็นระเบียบ
นิเวศวิทยา ขึ้นทั่วไปในป่าเบญจพรรณชื้น และตามที่ต่ำ ที่ชื้นแฉะใกล้น้ำ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
ออกดอก เมษายน – มิถุนายน เป็นผล มิถุนายน – กรกฎาคม
ขยายพันธุ์โดยเมล็ด
ประโยชน์ เนื้อไม้ สีเหลืองอ่อน เสี้ยนตรง เนื้อละเอียด เหนียว แข็ง ทนทาน ใช้ในการก่อสร้าง นิยมใช้ทำเสาเรือน แก่นมีรสฝาดใช้เข้ายาบำรุงธาตุ แน่นหน้าอก เปลือกใช้บำรุงโลหิต ผิวหนังพุพอง ปลูกเป็นไม้ประดับ
อ้างอิง www.thaicontractors.com

ลามิเนต ที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร ?

ลามิเนต ที่ดี นั้น ควรจะต้องพิจราณาจากส่วนไหน หลายท่านคงจะสงสัย
เพราะสมัยนี้นั้นต่างก็มี ลามิเนต ออกมาขายกันเยอะเเยะมากมาย
เเล้ว ลามิเนต เหล่านั้น มีลักษณะแตกต่าง ที่เราสามารถสังเกตุกันได้หรือไม่ ? อย่างไร ?

ลามิเนตที่ดี นั้น อันดับเเรกเลยที่เราควรจะสังเกตุคือ

1. มีตรารับรองที่ถูกต้อง ทั้งทางด้านวิศวะกรรมและการผลิต

2. กล่องลามิเนต ต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ทั้งด้านหน้าเเละด้านหลัง (ไม่มีรอย)

3. สอบถามการรับประกันจากทางเซลล์ผู้ขายลามิเนตให้เเน่นอน ว่าการรับประกันนั้นครอบคลุมเรื่องใดบ้าง ?

4. ด้านหลังของลามิเนต ต้องมีสีไม่ออกเขียว ควรจะมีสีน้ำตาลเข้ม หรือมี texture

5. ค่า AC3 และ HDF ต้องได้มาตรฐานระดับสากล

สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับลามิเนตเพื่มเติมได้ที่ : http://www.laminatethai.com/

ระบบการติดตั้งปั๊มน้ำภายในบ้าน

แบบที่ 1 เป็นการติดตั้งแบบ 2 ระบบ ซึ่งเป็นระบบมาตรฐาน ( แบบนี้จะเหมาะกับบ้านที่มีถังน้ำขนาดใหญ่ มีน้ำสำรองไว้ใช้อย่างเพียงพอ)

- ระบบที่ 1 น้ำจากท่อเมนประปาไหลเข้าถัง และเมื่อน้ำเต็มถังลูกลอยจะปิดน้ำเข้าถัง ปั๊มน้ำสูบน้ำจากถัง จ่ายเข้าท่อน้ำภายในบ้าน

- ระบบที่ 2 ทำงานสัมพันธ์กับระบบที่ 1 คือ เมื่อไฟฟ้าดับ น้ำจากท่อเมนประปาจะไหลเข้าบ้าน ตามแรงดันน้ำประปา และเมื่อไฟฟ้าทำงานตามปกติ ปั๊มจะสูบน้ำจากถังเข้าบ้านอัตโนมัติ (ไม่ต้องหมุนวาล์ว)

แบบที่ 2 เป็นการติดตั้งแบบ 4 ระบบพิเศษ (แบบนี้เหมาะกับบ้านที่มีความต้องการใช้น้ำมาก หรือมีน้ำเก็บสำรองน้อย) ซึ่งมีส่วนเพิ่มอีก 2 ระบบ คือ

- ระบบที่ 3 กรณีน้ำหมดถัง (เนื่องจากใช้น้ำมาก หรือน้ำประปาไม่ไหลเข้าถัง) สามารถใช้ปั๊มน้ำสูบน้ำจากท่อเมนประปาโดยตรง เข้าบ้าน โดยหมุนวาล์วเพียง 2 ตัว ทำให้มีน้ำใช้ภายในบ้านโดยสูบน้ำตรงจากท่อเมนประปาที่น้ำไหลอ่อน

- ระบบที่ 4 ทำงานต่อเนื่องจากระบบที่ 3 ใช้ปั๊มน้ำสูบจากท่อเมนประปาเก็บไว้ในถัง เมื่อน้ำเต็มถังลูกลอยจะปิดน้ำเข้าถัง โดยหมุนวาล์วเพิ่มจากระบบที่ 3 เพียงตัวเดียว ทำให้สามารถสูบน้ำจากท่อเมนประปาที่น้ำไหลอ่อน เก็บเข้าถังไว้สำรองไว้ใช้ได้

ในกรณีที่ต้องการไม่ให้ปั๊มน้ำสูบน้ำจากถังเมื่อน้ำหมดถัง ต้องติดตั้งสวิทซ์ลูกลอยตัดระบบไฟฟ้าที่ควบคุมปั๊มน้ำ เพื่อป้องกันปั๊มน้ำชำรุดเนื่องจากการทำงานโดยไม่มีน้ำ

การติดตั้งถังน้ำสเตนเลส

- ควรติดตั้งใกล้ท่อน้ำประปาภายนอกให้มากที่สุด เพื่อให้น้ำไหลเข้าถังได้สะดวก

- ควรใช้ท่อน้ำเข้าถังขนาดใหญ่ อย่างน้อยขนาด 3/4 หรือ 1 นิ้ว ท่อขนาดเล็กทำให้น้ำไหลเข้าถังช้า

- การเคลื่อนย้าย , ติดตั้ง ต้องระวังไม่ให้ของมีคมกระแทกถัง ซึ่งอาจทำให้ถังชำรุดได้

- ควรติดตั้งให้มีพื้นที่สำหรับเข้าทำงานซ่อมแซมได้สะดวก

- กรณีติตดั้งในที่โล่งมีลมแรง ควรยึดถังกับขาให้แน่นหนา และยึดขาถังกับพื้น และควรมีน้ำเต็มในถังตลอดเวลา เพื่อป้องกันถังล้มเนื่องจากลมแรง

- ถังน้ำสเตนเลสขนาดใหญ่ (ตั้งแต่ 2,000 ลิตร ขึ้นไป) หรือในพื้นทีที่ดินอ่อนมาก ควรเทพื้นซีเมนต์เสริมโครงเหล็กโดยใช้เหล็กเส้นขนาด 6 มม. หรือ 2 หุน ผูกเป็นตารางขนาดประมาณ 20 X 20 cm. โดยเทพื้นหนาประมาณ 8 - 10 cm รองรับด้วย ขนาดกว้าง-ยาวให้ใหญ่พอที่จะตั้งถังได้สะดวก หรืออาจจะเผื่อพื้นที่ตั้งปั๊มน้ำด้วยก็จะดีมาก

ข้อมูลจาก www.tanksunrise.com

บัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์

สำหรับหน่วยงานราชการ หน่วยงานกำกับของรัฐ หรือ รัฐวิสาหกิจ ที่ต้องมีการจัดซื้อจัดหาครุภัณฑ์ เพื่อใช้ในการสนับสนุนให้การดำเนินงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายสำเร็จลุล่วงนั้น จำเป็นต้องมีการวางแผนงบประมาณประจำปี และจำเป็นต้องรับทราบถึงเกณฑ์ราคามาตรฐานครุภัณฑ์ เพื่อช่วยให้หน่วยงานต่าง ๆ มีกรอบในการจัดซื้อจัดหาครุภัณฑ์ อันนำมาซึ่งความคุ้มค่าในการลงทุน และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันทางราคา จึงมีการกำหนดเกณฑ์ราคามาตรฐานของครุภัณฑ์ขึ้น ซึ่งเกณฑ์ราคามาตรฐานล่าสุดต่าง ๆ มีดังนี้

บัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ ตามที่สำนักมาตรฐานงบประมาณ สำนักงานประมาณ ประกาศเมื่อ มีนาคม 2554 โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.bb.go.th
อัตราราคางานต่อหน่วย ตามที่สำนักมาตรฐานงบประมาณ สำนักงานประมาณ ประกาศเมื่อ มีนาคม 2554 โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.bb.go.th
บัญชีราคามาตรฐานสิ่งก่อสร้าง ตามที่สำนักมาตรฐานงบประมาณ สำนักงานประมาณ ประกาศเมื่อ มีนาคม 2554 โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.bb.go.th
เกณฑ์ราคาพื้นฐาน สำหรับอุปกรณ์ ICT ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประกาศมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เดือนพฤษภาคม ปีงบประมาณ 2554 โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.mict.go.th
เกณฑ์ราคากลางและคุณลักษณะพื้นฐาน ครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์สำหรับงานระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประกาศมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เดือนพฤษภาคม ปีงบประมาณ 2554 โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.mict.go.th
ที่มา http://www.tistr.or.th

การเลือกใช้เสาเข็ม

ในบทความนี้จะกล่าวถึง ประเภทของฐานราก, ประเภทของเสาเข็ม? ว่ามีอะไรบ้าง และการเลือกใช้เสาเข็มชนิดต่างๆว่า จะมีวิธีการเลือกใช้อย่างไร

เท่าที่จำได้ประเภทของเสาเข็ม มีดังต่อไปนี้

1. เสาเข็ม สั้น พวกเสาเข็มไม้ หรือ เสาหกเหลี่ยมอัดแรงกลวง, ตัวไอ
2. เสาเข็มตอก เป็นคอนกรีตอัดแรงหล่อสำเร็จ จะมีหลายรูปทรง เช่น กลม เหลี่ยม ไอ เสาเข็มสปัน, เข็มเหล็ก
3. เข็มเจาะ
3.1 เสาเข็มเจาะขนาดเล็ก (สามขาหยั่ง)
3.2 เสาเข็มเจาะขนาดใหญ่ (รถเครนติดหัวสว่าน คันยังกับยักษ์ เห็นตามโครงการใหญ่ๆในกรุงเทพ)
3.3 เข็มเจาะเสียบ (เจาะดิน เสียบเข็ม แล้วตอกซ้ำ)
3.4 ไมโครไพล์

นึกออกแค่นี้ครับ ใครรู้ว่ามีมากกว่านี้แนะนำด้วยครับ

จะใช้เสาเ็ข็มยังไง เอาทีละอันนะครับ
ก่อน อื่น ถ้าเป็นกรุงเทพ ฟันธง เสาเข็มแน่นอนเพราะดินอ่อน ปากแม่น้ำ ที่แถวนี้อดีตกาลเป็นทะเล ส่วนใหญ่ 90% ชั้นดินแข็ง อยู่ลึกลงไปใต้ดิน ประมาณ 19-22 เมตร ใกล้เคียงกันหมด แต่จะเป็นเสาเข็มประเภทไหน


1. เสาเข็มสั้น
พวกเสาเข็มไม้ หรือ เสาหกเหลี่ยมอัดแรงกลวง เป็นเสาเข็มที่ใช้สำหรับงาน หรืออาคารที่รับน้ำหนักไม่มาก หรือ ฐานรากแบบตอกเข็มปูพรม เช่นพวก รั้ว บ่อปลา กำแพงกันดิน แต่มีอาคารอยู่เยอะเหมือนกันที่ใช้เสาเข็มสั้น เพราะว่า น้ำหนักอาคารที่ลงแต่ละฐานไม่มากและใช้ฐานนึงหลายต้น เลยพอไหว ถามว่า มันจะทรุดไหม ตอบว่าทรุดครับแน่นอน 100% แต่ไม่พัง เพราะ มันจะทรุดตัวเท่าๆกัน ไม่เป็นไร ยืนยันได้ ตัวอย่างคือ บ้านยุคเก่าในกรุงเทพรวมทั้งบ้านผม เป็นเข็มสั้นเกือบทั้งหมด ผมได้ยินมาว่าตึกลุมพินี(ชื่อไม่แน่ใจ)ที่เป็นอาคารสูงยอดแหลมๆอยู่บนสี่แยก ลุมพินี(ตรงข้ามสวนลุมไนท์)ที่เป็นโรงแรมใหย่โตก็เป็นเสาเข็มสั้น เสาเข็มสั้นจะรับน้ำหนักได้จากแรงฝืดรอบตัวเสาเข็มกับดิน และตามหลักวิศวกรรมยอมรับได้ถ้ามันทรุดตัวเท่าๆกันครับ

2. เสาเข็มตอก
มันก็คือเสาเข็มตอกโดยใช้ปั้นจั่นนั่นหละครับ ส่วนใหญ่การตอกเข็มจำเป็นต้องตอกให้ลึกลงไปอยู่ที่ชั้นดินแข็ง ถ้าเป็นกรุงเทพ ก็อยู่ที่ความยาวประมาณ 21 เมตร ส่วนจะใช้เสาเข็มประเภทไหนรูปทรงอะไร ตอบคือ ถ้าเสาเข็มรูปตัว ไอจะเป็นเสาเข็มที่สามารถรับแรงฝืดรอบเสาเข็มแถมมาให้ด้วยเพราะการหล่อเสา เข็มเป็นรูปตัวไอ จะทำให้เสาเข็มมีพื้นที่รอบรูปมากขึ้นกว่า เสารูปสี่เหลี่ยมธรรมดา แต่มีข้อเสียของเสารูปตัวไอคือตอกยาก หักง่ายกว่าเสารูปสี่เหลี่ยม ที่มีพื้นที่หน้าตัดมากกว่า คนตอกเข็มสามารถตอกเข็มเหลี่ยมแรงๆได้มากกว่าเข็มไอ ถ้าเป็นดินแข็งๆ ส่วนใหญ่จะต้องเป็นเข็มเหลี่ยมครับ ไม่งั้นหัวเข็มกระจุย
ส่วนชนิดของเสา เข็มตอกส่วนใหญ่จะเป็นคอนกรีตอัดแรง ที่ต้องอัดแรงเพราะว่าจะสามารถหล่อคอนกรีตได้ยาวกว่าเข็มที่ไม่ได้อัดแรง (ไว้ทีหลังจะอธิบาเรื่องคอนกรีตอัดแรงอีกทีนะครับ มีสองอย่าง อัดแรงก่อน กับอัดแรงหลัง เรื่องมันยาว) จะต้อสั่งจากโรงงานผู้ผลิตเข็มเพื่อที่จะกำหนดคุณสมบัติของเสาเข็มด้วยครับ ไว้ว่าเราต้องการรับแรงเท่าไร
ที่สำคัญของเสาเข็ม อัดแรงอีกเรื่องนึงคือ การขนย้าย กับการยกเข็มขึ้นตอก จะต้องยกตามจุดที่โรงงานเขากำหนดมาให้เท่านั้น ถ้าสังเกตุเสาเข็มที่สั่งมาจากโรงงานนะครับจะเห็นว่าเขาจะมีห่วงอยู่ที่เสา เข็มมาให้ 2 ห่วง โดยเวลาขนส่งจะต้องยกที่ห่วงนี้เท่านั้น ไม่งั้นเข็มจะหักได้ก่อนตอก เสาเข็มจะเสียไปเลย เวลาเขามาส่งเสาที่หน้างานให้สังเกตุด้วยครับว่ามีเสาร้าวหรือเปล่า ถ้ามีให้คืนโรงงานกลับไปเลย หรือทิ้งเสาต้นนั้นไปครับ
เสาเข็มอีกแบบ หนึ่งทีเห็นบ่อยคือ เข็มสปัน จะเป็นเข็มกลม กลวงตรงกลาง มีเพลทเหล็กแปะที่หัวเสา ผลิตโดยใช้เครื่องจักรเหวี่ยง คอนกรีตขณะเทเสาให้กลวงตรงกลาง แล้วอัดแรง ข้อดีของเข็มสปันคือสามารถรับแรงได้มากๆ เหมาะสำหรับโครงการใหญ่ๆ ตอกลึกๆ แต่ข้อเสียคือเสาสปันสามารถรับแรงเฉือนหรือแรงดันจากด้านข้างได้น้อยครับ

หัวใจ สำคัญของเสาเข็มตอกที่ห้ามลืมคือ การเชคโบลเคาท์ครับ ต้องเชคทุกต้นอย่าลืม อย่าปล่อยละเลย ผมเคยเล่าไปแล้วในกระทู้ก่อน หาอ่านดูนะครับ

3. เสาเข็มเจาะ
เสาเข็มเจาะจะมีหลายแบบเท่าที่แยกออกมาได้คือ

3.1 เสาเข็มเจาะขนาดเล็ก
แบบใช้สามขาหยั่ง ลักษณะของเสา เข็มแบบนี้คือการ ตอกปลอกเหล็กเป็นท่อนๆลงไปในดิน แล้วเจาะเอาดินในปลอกขึ้นมาทิ้ง จนถึงระดับดินที่ต้องการ เสร็จแล้ว ใส่เหล็ก เทคอนกรีตลงไปในหลุมที่เจาะไว้ แล้วก็ถอนปลอกออก เป็นอันเสร็จ
ข้อ ดีของเข็มเจาะแบบนี้มีหลายอย่างครับ อย่างแรกคือ มันจะไม่กระทบกระเทือนอาคารข้างเคียงเวลาตอกเข็มครับ เพราะว่าเวลาตอกเข็ม ดินบริเวณข้างเคียงในรัศมี 50 เมตรจะสะเทือนอาจมีผลทำให้อาคารข้างเคียงแตกร้าว หรือเสียหายได้ อาคารที่สร้างติดกับอาคารอื่นข้างเคียง หรืออาคารที่ต่อเติม จำเป็นต้องใช้เสาเข็มแแบบนี้ เพราะปลอดภัย ไม่ต้องกลัวมีปัญหา อีกอย่างคือการเจาะเข็มแบบนี้สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก เพราะเป็นสามขาหยั่ง สามารถเจาะเข็มชิดอาคารข้างเคียงหรือห่างจากผนังออกมาแค่ 0.75 เมตรได้ ความสูงที่ต้องการก็แค่ 3.00 เมตร สามารถมุดเข้าไปตอกเข็มที่ชั้นล่างของอาคารเก่าได้ใน กรณียต้องเสริมเสาเข็ม การรับน้ำหนักก็สามารถรับได้มากพอสมควร อาจมากกว่าเสาเข็มตอกด้วย แต่ข้อเสียก็มีครับ อย่างแรกคือราคาที่แพงกว่าเสาเข็มตอก ประมาณ 2 เท่า และการควบคุมงานควรจะต้องทั่วถึงเพราะในขั้นตอนการทำงาน บริษัทเข็มเจาะจะลักไก่ได้ตลอด เช่น เจาะไม่ถึงชั้นดินที่ควรเป็นบ้าง ไม่ใส่เหล็กให้ครบบ้าง หลุมพังในระหว่างเจาะบ้างทำให้เสาแคบเป็นคอขวด และอีกเยอะครับ ไว้จะตั้งกระทู้ใหม่ เล่ารายละเอียดพร้อมโฆษณาไปในตัวด้วย อิอิ

3.2 เสาเข็มเจาะขนาดใหญ่
ผมไม่ค่อยรู้รายละเอียดเท่าไร คร่าวๆ หลักการมันก็เหมือนเสาเข็มเจาะขนาดเล็ก แต่เจาะลงไปลึกกว่า ขนาดใหญ่กว่า มีขั้นตอนยุ่งยากกว่าครับ เท่าที่ทราบคือ โดยมากมันจะต้องเจาะให้ทะลุชั้นทราย ลงไปใต้ดิน มากกว่าเข็มเจาะขนาดเล็กจะทำได้ (เกิน 21 เมตร) และมันจะเจอตาน้ำ กับปัญหาการพังทลายของข้างหลุม ต้องใช้สารเคมีเรียกว่า เบนโทไนท์ ป้องกันดินพัง กับเครื่องจักรกลหนักในการทำงาน เช่นพวก steam hammer, Hydraulic jack, หรือการอัดน้ำ

3.3 เสาเข็มเจาะเสียบ
มันก็ใช้เสาเข็มคอนกรีตอัดแรงเหมือนข้อ 2 นั่นแหละครับ แต่ตอนต้นจะเป็นการเจาะรูนำให้เกินระดับความลึกชั้นดินอ่อนเสียก่อน โดยใช้รถเจาะ แล้วค่อยแทงเข็มลงไปตอกซ้ำ ที่ต้องทำแบบนี้ เพราะเป็นการลดการสั่นสะเทือนของอาคารข้างเคียง อาจเป็นแค่บางแนวที่ใกล้กับอาคารข้างเคียงมากเกินไป ข้อเสียคือ จะการรับน้ำหนักของเข็มที่เกิดจากแรงเสียดทานด้านข้างจะลดลงไป และต้องทำงานซ้ำซ้อน ราคาแพงขึ้น

3.4 ไมโครไพล์
ผมไม่ค่อยรู้เรื่องเข็มแบบนี้มากนักครับ เป็นงานเฉพาะทาง ที่เสาเข็มเจาะสามขาหยั่งแบบข้อ 3.1 เข้าไปทำไม่ได้ เพราะไมโครไพล์ จะมีขนาดเล็กกว่า ใช้พื้นที่ในการทำงานน้อยกว่า และก็แพงกว่าด้วย คร่าวๆของไมโครไพล์คือ จะใช้ท่อเหล็กเป็นท่อนๆ ขนาดเส้นผ่าศูยน์กลาง ประมาณ 15-25 เซน ยาวท่อนละ 2-3 เมตร ปลาย 2ด้านเป็นเกลียว ต่อด้วยข้อต่อ ฝังลงไปในดิน แล้วอัดน้ำปูน และฝังท่อเหล็กที่ว่าเป็นเสาเข็มไปเลยครับ

แถม เสาเข็มอีกแบบครับ

3.6 เสาเข็มเจาะขนาดเล็ก แบบใช้รถติดหัวสว่าน
เป็นรถสว่านทำเข็มเจาะขนาดเล็ก เป็นเสาเข็มเจาะขนาดเล็ก เหมือนข้อ 3.1 แต่สามารถ เจาะความลึกได้จำกัด อาจแค่ 6-8 เมตร ขึ้นอยู่กับความยาวของสว่านที่วางอยู่หลังรถ 10ล้อแค่นั้น ถ้าเกินกว่านั้นก็ทำไม่ได้ ส่วนใหญ่ผมเห็นอยู่ตาม ภาคกลาง กับแถบชลบุรี ที่ชั้นดินมีความลึกไม่เกิน 8.00 เมตร รับงานเจาะเข็มได้ถูกกว่า เพราะขนย้ายง่ายและทำได้ง่ายกว่า

แหล่งที่มาข้อมูล http://borepile.com

วิธีการเลือกใช้ฐานราก แบบฐานรากแผ่ หรือ แบบเสาเข็ม

สมมุติว่าเรา จะก่อสร้างอาคารสักอาคารนึง และเราจะเลือกฐานรากแบบไหนดี ความลึกของฐานราก หรือความลึกของเสาเข็มจะลึกเท่าไร
ส่วนตัวผมจะทำอย่างนี้ครับ

ถ้า ไม่ใช่กรุงเทพ อันดับแรกผมจะถามข้อมูลดินจากที่ข้างเคียงก่อน หรือบริษัทเสาเข็มเจ้าถิ่นครับ ว่าบริเวณนั้นเขาทำฐานรากยังไง ความลึกเท่าไรเป็นข้อมูลในใจ
แล้วคำนวนออกแบบโครงสร้างตามปรกติ ผมจะทราบน้ำหนักของอาคารที่ลงในฐานรากแต่ละฐานครับว่ามีน้ำนักกดลงไปเท่าไร

ที นี้ก็มาดูข้อมูลดิน ว่าเป็นยังไง ถ้ารู้ข้อมูลดินมาว่าแถวนั้น ตอกเข็มไม่ลง และ้ต้องเป็นฐานแผ่แน่ๆ ผมก็จะระบุไว้ในแบบ เพื่อความปลอดภัยว่า
“ผู้รับเหมาจะต้องทำการสำรวจชั้นดิน หรือทำการทดสอบการรับน้ำหนักของดินก่อนทำการก่อสร้าง”

ขั้นตอนต่อมาคือการตรวจสอบข้อมูลดิน ที่สถานที่จริง?? สำหรับการ ตรวจสอบส่วนใหญ่ จะมี 2 วิธีคือ การทำ Borring Log และการทำ plate barring Test (รายละเอียดค่อยว่ากันนะ คร่าวๆคืออันแรกเป็นการตวจสอบชั้นดิน อีกอันเป็นการเทสการรับน้ำหนักของชั้นดินครับ)

พอได้ข้อมูลดินที่แท้จริงจากบริษัทที่ทำการสำรวจแล้ว? ขั้นตอนต่อมาก็มาตัดสินใจว่า จะเลือกใช้ฐานรากแบบไหนอย่างไร ? วิธีการตัดสินใจคือ ถ้าดินในระยะตื้นๆที่สามารถทำฐานรากแผ่ได้นั้น สามารถรับน้ำหนักของอาคารได้เพียงพอ ก็จะทำการออกแบบฐานรากแผ่ตามความลึกตามที่ว่า? แต่ถ้าข้อมูลดินระบุว่าที่ระดับความลึกที่สามารถทำฐานรากแผ่นั้นไม่สามารถรับน้ำหนักอาคารของเราได้ ก็จำเป็นต้องพิจารณาเป็นฐานรากแบบเสาเข็มครับ

วิธีการออกแบบฐานรากแผ่ ว่าควรจะใหญ่ขนาดไหน ถ้าไม่มีข้อมูลดินจริงๆ ก็สามารถทำได้โดยการสมมุติ การรับน้ำหนักของดิน เรียกว่าเดาอย่างมีหลักการครับว่า
1. ภาคกลาง, ภาคเหนือ, อีสาน ใช้ 8 ตันต่อตารางเมตร
2. ภาคตะวันออก ชลบุรี, ระยอง ภาคใต้ ใช้ 10 ตันต่อตารางเมตร
3. โซนใกล้ ภูเขา มองเห็นภูเขา ใกล้ทะเล ใช้ 12 ตันต่อตารางเมตร
4. กรุงเทพ หรือดินอ่อน ที่อยากจะใช้ฐานแผ่ ใช้ 2 ตันต่อตารางเมตร

คร่าวๆ การออกแบบนะครับ ว่าขนาดฐานรากจะเป็นเท่าไรคือ น้ำหนักของอาคารที่ลงเสาเข็ม ลบ กับ การรับน้ำหนักของดินคูณกับพื้นที่ของฐานรากที่สัมผัสดิน
ตัวอย่างเช่น ภาคกลาง ใช้ ฐานราก 1×2 เมตร(ยังไม่พูดถึงความหนานะ) จะรับน้ำหนักอาคารได้ 16 ตันครับ (8×1x2=16)ทีนี้ พอถึงเวลาการก่อสร้างจริง หน้าที่ของผู้รับเหมาก็จะต้องไปตรวจสอบสอบพื้นที่ จริงครับว่าชั้นดินแข็งที่ว่า รับน้ำหนักได้ 8 ตัน 10 ตันอยู่ครงไหน ลึกไปจากผิวดินอยู่เท่าไร
ส่วนมากอย่างน้อยๆ ควรจะลึกลงไปไม่ต่ำกว่า 1.00 เมตร โดยไม่รวมดินถมนะครับ ถ้ามีดินถมก็ต้องจากระดับดินถมลงไป เพราะดินถมรับน้ำหนักไม่ได้พอ

วิธีสังเกตุ ตอนคนงานขุด หรือแมคโคจ้วงลงไป คือลักษณะดินจะเป็นชั้นๆ มีสีต่างๆกัน และมีลักษณะดิน ไม่เหมือนกัน ตอนขุดลงไป คอยสังเกตุครับดินที่รับงน้ำหนักได้ดีควร จะเป็นดินแข็ง, ลูกรัง, ทราย หรือดินปนทราย, ถ้าเป็นดินเหนียว หรือดินปลูกต้นไม้ยังใช้ไม่ได้ ใหุ้ขุดลงไปอีก แต่ชั้นดินที่แข็งมันก็ยังเป็นชั้นๆอีกครับ ถ้าทะลุชั้นดินแข็งลงไปอาจจะกลายเป็นดินอ่อนอีกรอบก็ได้ไม่แน่

เพื่อนๆ อาจเคยเห็น อาคารบางอาคาร ที่อยู่ในบริเวณที่ไม่น่าจะต้องตอกเข็ม เช่นชายทะเล เชิงเขา แต่ ก็ยังตอกเข็มอีก เป็นเพราอะไร
ตอบคือ น้ำหนักของอาคารที่ลงในแต่ละเสาเข็มมันมากเกินกว่าที่จะทำฐานแผ่นั่นเองครับ ดินมันรับไม่ไหว ถ้าจะทำฐานแผ่ ฐานอาจต้องใหญ่มากๆ
วิศวกรเลยจำเป็นต้องออกแบบให้ตอกเข็ม ทั้งๆที่ตอกยาก

และฝาก นิดนึงครับ สำหรับ ท่านผู้ออกแบบทั้งหลาย ว่าการ ออกแบบอาคารที่มี span ยาวๆ หรือการออกแบบเสา คานที่ไม่ตรง grid line เยื้องไปเยื้องมาที่ท่านชอบนั้น จะทำให้อาคารนั้นมีน้ำหนักลงไปฐานรากมากกว่าปรกติ และก็เปลืองกว่าด้วยครับ
บางทีดินอาจรับไม่ไหวก็ได้ ถ้าสามารถเลือกได้ควรออกแบบให้เป็น กริดๆ ตารางๆ และก็ span เสาไม่ยาวเกินไปครับ เรื่องนี้ผมเถียงกับสถาปนิกที่เป็นเพื่อนกันมานานมาก แบบว่าจะเอาถูกๆ แต่เล่นออกแบบ ยึกยักๆ กริดไลน์เยอะมาก span ก็ห่างๆ พอเห็นขนาด กับจำนวนเสาเข็มก็แทบเป็นลมเรื่องราคาค่าก่อสร้าง? แต่ก็อย่างว่าทำไงได้? การออกแบบอาคารให้ถื่อเกินไปบางที ก็รับไม่ได้เหมือนกันครับ

แหล่งที่มาข้อมูล http://borepile.com

แต่งบ้านราคาประหยัด

ในยุคเศรษฐกิจตกสะเก็ดอย่างทุกวันนี้ ค่าน้ำมันก็แพงขึ้นทุกวัน ทำให้ข้าวของอย่างอื่นแพงตามไปด้วย อยากจะหนีความวุ่นวายภายนอกมาพักผ่อนอยู่กับบ้าน แต่ตามประสาคนรักบ้าน อยู่บ้านก็ต้องอยากแต่งบ้านเป็นธรรมดา เรามีไอเดียในการแต่งบ้านแบบประหยัด ที่จะช่วยทำให้บ้านยังคงเป็นสถานที่พิเศษที่พร้อมจะรองรับคุณในทุกสภาวะเศรษฐกิจ

1.ประหยัดด้วยไอเดีย เปลี่ยนสีบนผนัง การทาสีผนังบ้านใหม่ นับเป็นวิธีแต่งบ้านที่ง่าย ประหยัด และได้ผลดีที่สุดทางหนึ่ง ลงทุนแค่สีน้ำพลาสติกสีสวยๆ กับแปรงทาสีอีกสักอันราคารวมกันไม่เท่าไหร่ มาจัดการเปลี่ยนผนังเก่าสีหมองในบ้านให้ดูสวยสดใสขึ้น เท่านี้ก็สามารถสร้างบรรยากาศแปลกใหม่ในบ้านได้ ด้วยราคาแบบสบายกระเป๋า

2.เก็บสายไฟในท่อ การเดินสายไฟแบบฝังในผนังดูเรียบร้อยก็จริง แต่จะซ่อมแซมหรือเดินเพิ่มทั้งทีก็ต้องทุบผนัง เสียสตางค์และเสียเวลา ลองเปลี่ยนมาเดินลอยบนผนัง โดยร้อยใส่ท่อเหล็กแล้วอาจทาสีทับให้ดูเรียบร้อย ช่วยประหยัดงบประมาณในการดูแลรักษาและซ่อมแซม

3.ปรับแสงปรับอารมณ์ เปลี่ยนสีของหลอดฟลูออเรสเซนต์ทั่วๆไป โดยนำมาหุ้มด้วยปลอกพลาสติกหลากสีราคาเพียงปลอกละ 10 บาทซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วไป เพียงเท่านี้ก็จะได้หลอดไฟสีสวย ไว้ใช้ตกแต่งและสร้างบรรยากาศของบ้านได้ ในราคาถูกและช่วยประหยัดพลังงานมากกว่าหลอดนีออน

4.เปลี่ยนโครงสร้างบ้านเป็นเฟอร์นิเจอร์ ใช้ประโยชน์จากส่วนโครงสร้างของบ้าน เช่น ช่องว่างระหว่างเสา โดยติดแผ่นไม้ทำเป็นชั้นวางของ ติดประตูบานเลื่อนเพื่อกันฝุ่น หรือติดม่านกั้นแทนบานตู้ เท่ากับว่าเราประหยัดงบประมาณเงินค่าทำเฟอร์นิเจอร์ทั้งด้านหลังและด้านข้าง นอกจากนี้อาจก่อปูนสูงสัก 40 เซนติเมตร หรือติดแผ่นไม้วางเบาะเพื่อทำเป็นม้านั่งก็ได้ ช่วยประหยัดงบประมาณในการทำเฟอร์นิเจอร์ไปได้เยอะ

5. ปรับเปลี่ยนได้ หนึ่งชิ้นหลายหน้าที่ เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่เปลี่ยนหน้าที่การใช้งานได้อย่างเช่น โซฟาเบด ที่สามารถใช้นั่งหรือปรับเป็นเตียงนอนได้ ราคาต่อชิ้นอาจจะแพงกว่าสักหน่อย แต่ด้วยประโยชน์ที่หลากหลายก็ช่วยให้คุณประหยัดได้กว่าการซื้อเฟอร์นิเจอร์หลายชิ้น

6.ยืดได้หดได้ เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์แบบที่สามารถ ปรับเปลี่ยนขนาด ย่อขยาย ยืดหด วางต่อ หรือซ้อนชั้นกันได้ เพื่อรองรับการใช้งานในหลากหลายรูปแบบตามความต้องการ ช่วยให้คุณประหยัดได้ทั้งงบประมาณและพื้นที่ใช้สอย

7.เคลื่อนที่ได้ สำหรับเฟอร์นิเจอร์ชิ้นที่ไม่ได้ใช้งานตลอดเวลา การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก อย่างโต๊ะที่มีล้อเลื่อน จะช่วยให้เราสลับตำแหน่งและการใช้งานได้ง่ายขึ้น เช่น โต๊ะรับประทานอาหารขนาดเล็ก เลื่อนไปใช้งานในครัวเมื่อต้องทำอาหารมื้อใหญ่ วิธีนี้ช่วยประหยัดไปได้ตั้งครึ่ง

8.แต่งบ้านอย่างมีแผน วางแผนก่อนเพื่อเห็นภาพรวม เหมือนมืออาชีพที่ต้องเขียนแบบแปลน ก่อนจะเริ่มตกแต่งคุณเองควรเขียนแบบแปลนหรือแผนการตกแต่งทั้งหมด เพื่อช่วยให้เห็นภาพรวมและรู้ว่าควรทำอะไรก่อนหลัง เช่น ควรทาสีผนังให้เรียบร้อยก่อนเก็บงานที่พื้น เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดจนต้องทำงานซ้ำซ้อน ซึ่งส่งผลต่อสตางค์ในกระเป๋าของคุณอย่างแน่นอน

9.แต่งบ้านทีละระยะ การแต่งบ้านให้เสร็จลุล่วงในคราวเดียวเป็นเรื่องที่ดี แต่อาจทำให้กระเป๋าฉีกได้ ลองแบ่งงานตกแต่งบ้านทั้งหมด(ตามแผนที่คุณวางไว้) ออกเป็นช่วงๆโดยให้ระยะแรกเป็นส่วนที่จำเป็นที่สุดก่อน แล้วดำเนินการทีละขั้นตอน เมื่อระยะแรกจบอาจทิ้งช่วงเก็บสตางค์สักพัก จากนั้นจึงเริ่มช่วงต่อไป กว่าจะเสร็จอาจใช้เวลาสักหน่อย แต่เพื่อไม่ให้คุณต้องรับภาระหนักเกินไป และยังเป็นการให้เวลาตัวคุณสรรหาของที่ถูกใจจริงๆอีกด้วย

10.ซื้อช่วงลดราคาถูกกว่าเยอะ ร้านขายของแต่งบ้านเกือบทุกร้านจะมีช่วงลดกระหน่ำประจำปี โดยเฉพาะร้านใหญ่ๆอย่าง Modernform Index Habitat ซึ่งหากเราอดใจรอซื้อในช่วงลดราคา ก็จะได้ของดีที่ราคาถูกกว่ามาก โดยเฉพาะของชิ้นใหญ่ใช้งบเยอะอย่าง ที่นอน โซฟา เตียง หรือตู้เสื้อผ้า รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆด้วย แต่คุณอาจต้องจดบันทึกสักหน่อยว่าร้านที่คุณไปเล็งๆของไว้นั้น เขาลดราคากันช่วงไหน เดือนไหนของปี บางที่ลดปีละ 2 หน เพื่อปีถัดไปคุณจะได้วางแผนการช็อป(และเตรียมเก็บเงิน)ได้พอดี และต้องตาดีพอจะเลือกของ คนละเวลา คนละสถานที่ แล้วนำมาเข้าชุดกันได้

DIY ทำเองก็ได้ไม่ต้องซื้อ

11. วอลล์เปเปอร์ทำมือ วอลล์เปเปอร์ที่กำลังอินเทรนด์ ช่วยให้ผนังบ้านคุณดูน่าสนใจทีเดียว แต่ราคาก็สูงเช่นกัน แล้วถ้าลองทำเองล่ะ โดยใช้แผ่นแฟ้มพลาสติกฉลุลาย(ลอกจากในหนังสือแต่งบ้านก็ได้)ใช้เป็นแบบ แล้วนำไปพ่นสีสเปย์หรือทาสีที่ต่างจากผนัง ให้สีลอดส่วนที่ฉลุลงไปบนผนังจนเกิดเป็นลวดลายบนผนัง เพียงเท่านี้คุณจะได้วอลล์เปเปอร์ลายสวยไม่ซ้ำใครในราคาสุดประหยัด

12. สวยด้วยผ้า ไปเดินเลือกผ้าลายสวยราคาไม่แพงสักผืนจากพาหุรัด นำมาบวกกับไอเดียและฝีมือเย็บปักถักร้อยของคุณ ก็สามารถใช้ทำของตกแต่งบ้านอย่างง่ายๆในราคาแสนถูก โดยนำมาใช้เย็บเป็นปลอกหมอน หรือทำเป็นเบาะรองนั่ง ช่วยให้เฟอร์นิเจอร์ชิ้นเก่าของคุณให้ดูสวยน่าใช้ยิ่งขึ้น

13. ใช้ผ้าซ่อนความเก่า เก้าอี้นั่งที่ดูเก่าและเชย หรือโซฟาสมัยคุณยายที่ขาดแล้ว หากยังไม่มีสตางค์เอาไปซ่อมหรือซื้อของใหม่ ลองเย็บผ้าคลุมดูไหม โดยเลือกผ้าลายสวยที่ชอบเย็บให้ได้รูปทรง แล้วสวมทับลงไปปิดบังความเก่า และใช้งบน้อยมาก ใครที่นึกวิธีทำไม่ออก เราแนะให้ไปดูหนังสือ Sott Furnishings ของสำนักพิมพ์บ้านและสวน มีไอเดียเกี่ยวกับผ้าและแพตเทิร์นให้ทำตามมากมาย

14. บางอย่างใช้แทนกันได้ สมมุติว่าเป็นไม้ ม่านปรับแสงไม้ขาดแผ่นกว้าง 2 นิ้วกำลังเป็นที่นิยม ช่วยให้บ้านมีอารมณ์สบายแบบรีสอร์ท แต่ราคาค่อนข้างสูง คุณอาจเลือกใช้ม่านปรับแสงที่ทำจากอะลูมิเนียมแทน โดยเลือกขนาดของแผ่นม่านให้เท่ากัน ขึงด้วยแถบผ้าสีเข้มๆ เช่น สีดำหรือสีน้ำตาล ก็จะได้ม่านปรับแสงที่ดูดีแต่ราคาถูกกว่าเยอะ

15. สมมุติว่าเป็นโต๊ะ กล่อง ลัง หรือกระเป๋าเดินทาง แทนที่จะใช้เก็บของแล้ววางซ่อนอยู่มุมห้องเพียงอย่างเดียว เมื่อนำมาวางซ้อนกันยังสามารถใช้ทำเป็นโต๊ะกลาง หรือโต๊ะวางของอย่างง่ายๆ ช่วยประหยัดเหมือนได้เฟอร์นิเจอร์อีกชิ้นโดยไม่ต้องซื้อเพิ่ม

16. สมมุติว่าเป็นผนัง ถ้าคุณจำเป็นต้องแบ่งสัดส่วนของห้องเพิ่ม แต่ยังไม่มีสตางค์พอที่จะทำผนังเบา ลองทำราวเพื่อแขวนผ้าม่านขนาดยาวแทน โดยเลือกให้ขนาดของแผ่นผ้าม่านเท่ากัน นอกจากจะราคาถูกกว่าแล้วยังสามารถรูดม่านเก็บได้เมื่อต้องการเปิดพื้นที่โล่ง หรือปรับเปลี่ยนลายผ้าได้ไม่ยากด้วย

17. วงกบสีดำ ดูเหมือนแพง แทนที่ต้องใช้วงกบ UPVC หรือวงกบไม้ที่ราคาสูง วงกบอะลูมิเนียมสีดำก็ดูเท่ ดูดีได้ ราคาก็ถูกกว่ากันเยอะ แถมเข้ากับบ้านได้ทุกสไตล์ เป็นทางเลือกที่สถาปนิกนิยมเลือกใช้ เพราะประตูหน้าต่างแบบเรียบๆ กับกรอบสีเข้ม จะช่วยให้บ้านคุณดูดีขึ้นได้เกินราคา

Mix &Match ประหยัดกว่า

18. เรียบไว้ก่อน เฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ที่เราต้องใช้ไปอีกนาน อย่างโซฟา หรือโต๊ะรับประทานอาหาร ควรเลือกซื้อแบบและสีเรียบๆไว้ก่อน เพราะเฟอร์นิเจอร์ที่ดูเรียบนั้นเข้ากับอะไรก็ได้ แถมดูไม่น่าเบื่อง่ายหรือล้าสมัย ช่วยให้การซื้อของอื่นๆที่อยู่รายรอบง่ายดายขึ้น และประหยัดงบไม่ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ

19. แต่งแบบไม่ยึดติด การเลือกแต่งบ้านโดยไม่ยึดติดกับสไตล์ใดสไตล์หนึ่ง เช่น การเลือกใช้เก้าอี้คละแบบสำหรับชุดประทานอาหาร บางตัวอาจราคาถูก บางตัวอาจมีราคาสักหน่อย แต่เลือกให้เข้ากันได้ ก็ช่วยประหยัดได้มากกว่าการซื้อเฟอร์นิเจอร์แบบยกชุด

20. เสียตรงไหนเปลี่ยนตรงนั้น ข้อดีของการแต่งบ้าน Mix&Match อีกข้อหนึ่งก็คือ เมื่อของบางชิ้นชำรุดเสียหาย เราก็สามารถเปลี่ยนหรือซ่อมใหม่ได้เฉพาะตัวที่เสีย ไม่ต้องเปลี่ยนหรือซ่อมทั้งชุด ประหยัดไปได้เยอะ

ผนังเบา

ผนังเบา คือผนังที่ทำขึ้นโดยไม่ต้องมีคานรองรับใต้พื้น เป็นวัสดุเบาๆ มีน้ำหนัก 30-40 กิโลกรัมต่อตารางเมตร นิยมใช้ทั้ง ภายในและภายนอกอาคาร ตัวอย่างเช่น ผนังอีเตอร์แพน บอร์ด
อีเตอร์แพน บอร์ด เป็นไฟเบอร์ซีเมนต์บอร์ด ใช้งานได้หลากหลาย เช่น ผนังภายนอกใช้ความหนาที่ 6, 7.5, 9 และ 12 มม. ตามแต่ละสภาพของงาน สามารถตัดแผ่นให้ได้ขนาดที่ต้องการ เว้นรอยต่อ 3-5 มม. รอยต่อใช้โพลียูริเทนยาแนว ก็จะเป็น ผนังเบาที่สวยงามได้
หรืองานผนังภายใน สามารถใช้ความหนาที่ 5.5, 6, 7.5 และ 9 มม. ตีชิดฉาบเรียบด้วยผงยิบซั่มและปลาสเตอร์ ไม่ต้อง เว้นรอยต่อระหว่างแผ่นเรียบสนิทไร้ร่องรอย เก็บหัวสกรูได้สวยงาม เป็นทั้งผนังเก็บเสียง กันไฟปลอดภัยจากมอก ปลวก และ เชื้อรา
นอกจาก แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์บอร์ดแล้ว ยังมีวัสดุแผ่นอีกหลายชนิดในท้องตลาด เช่น ยิบซั่มบอร์ด ไม้อัด กระเบื้องแผ่น เรียบ สามารถเลือกใช้ได้โดยไม่ต้องทำคานรองรับใต้พื้น การจะใช้วัสดุอะไร ขอให้ดูข้อมูลวัสดุนั้นๆ ว่ากันปลวก กันมอด กันน้ำ ได้ดีเพียงใด การยึดโยงติดตั้งทำอย่างไร มีความคงทนได้ดีเพียงใด เพื่อนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการเลือกใช้ วัสดุนั้นๆ กับบ้านคุณ

ขอบคุณ interhouse.co.th

การเลือกวอลเปเปอร์

วอลเปเปอร์ทำจากวัสดุหลากหลายชนิดด้วยกัน แต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติแตกต่างกันซึ่งก็เหมาะกับผนังห้องแต่ละห้องที่แตกต่างกันไป

ตัวอย่างชนิดของวอลเปเปอร์
- วอลเปเปอร์ผ้า ดูอ่อนนุ่ม สวยงาม เหมาะกับห้องที่ไม่พลุกพล่าน เช่น ห้องนอน หรือห้องผนังผิวไม่เรียบ แต่ข้อจำกัดคือ ราคาแพง ไม่ทนทาน
- วอลเปเปอร์แผ่นฟอยล์ ดูหรูหรา เหมาะกับพื้นที่เล็กๆ แต่มีราคาแพง ไม่ทนทาน ติดตั้งยาก
- วอลเปเปอร์กระดาษ มีลวดลายงดงามให้เลือกมากมาย ติดตั้งสะดวก แต่มีปัญหาในการทำความสะอาด เพราะกระดาษซับน้ำได้ง่าย จึงไม่ควรเลือกวอลเปเปอร์ที่เป็นกระดาษอย่างเดียว แต่ควรเคลือยไวนิล บุผ้าด้านหลังด้วย จะทำความสะอาดง่ายกว่า
- วอลเปเปอร์ไวนิล ถ้ามองในแง่ของการทำความสะอาดแล้ว ไวนิลถือเป็นวัสดุพลาสติกที่ช่วยขจัดปัญหาเรื่องความเปียกชื้น คราบน้ำมัน หรือคราบฝุ่นเกาะ เพราะไวนิลทำความสะอาดง่าย เพียงใช้ฟองน้ำชุบน้ำสบู่เช็ด คราบเลอะๆก็จะหมดไป นอกจากนี้ไวนิลยังมีความทนทาน ติดตั้งง่าย จึงเหมาะกับบริเวณที่ต้องใช้งานมาก โดยเฉพาะ ห้องครัว ห้องนั่งเล่น เป็นต้น

วอลเปเปอร์ทำจากเส้นใยสังเคราะห์ มองจากภายนอกคล้ายผ้า สามารถใช้ได้ทั้งส่วนของผนังและเพดาน มีส่วนช่วยป้องกันความร้อน สามารถใช้ได้กับทุกห้อง ยกเว้นห้องน้ำและห้องครัว เนื่องจากเป็นห้องที่มีความชื้นสูง อาจทำให้วอลเปเปอร์หลุดร่อนหรือขึ้นราได้
วอลเปเปอร์ที่ใช้กันในปัจจุบันมี 2 ชนิดให้เลือก คือ วอลเปเปอร์แผ่นเรียบหรือ “ไวนิล” มีลักษณะเรียบไปกับพื้นผนัง ส่วนอีกชนิดหนึ่งคือ วอลเปเปอร์ชนิดเนื้อโฟม มีลักษณะหนา ลวดลายนูนออกมา และสามารถเก็บเสียงได้มากกว่าวอลเปเปอร์ชนิดไวนิล สำหรับการตัดสินใจเลือกซื้อวอลเปเปอร์ย่อมต้องคำนึงถึงคุณสมบัติที่ต่างกัน วอลเปเปอร์ชนิดไวนิล มีอายุการใช้งานที่ยาวนานและทำความสะอาดง่าย แต่หากต้องการเปลี่ยนวอลเปเปอร์ภายในระยะเวลา 1-3 ปี ก็สามารถรื้อปูใหม่ได้ง่าย ส่วนวอลเปเปอร์ชนิดเนื้อโฟม จะมีลวดลายที่เหมือนจริง แม้ว่ามีราคาถูกกว่าแต่ทำความสะอาดได้ยากกว่า และมีอายุการใช้งานเพียง 5-6 ปี

การเลือกวอลเปเปอร์ให้เข้ากับบรรยากาศของห้องต่าง ๆ นั้น หากต้องการให้ห้องที่มีบรรยากาศคลาสสิกให้เลือกวอลเปเปอร์ที่มีลวดลายมาก ๆ เช่น ลายดอกไม้หรือลายเครือเถา แต่ถ้าต้องการห้องที่มีการประยุกต์ใช้งานได้หลายรูปแบบให้เลือกวอลเปเปอร์ที่มีลวดลายอ่อนช้อย สำหรับห้องที่มีความทันสมัยให้เลือกวอลเปเปอร์ที่ไม่มีลวดลาย

นอกจากค่าใช้จ่ายในการติดตั้งของวอลเปเปอร์ต่อตารางเมตรทั้งสองประเภทนี้มีความแตกต่างกันแล้ว ยังขึ้นอยู่กับค่าติดตั้งซึ่งบางแห่งไม่รวมค่าติดตั้ง การคำนวณพื้นที่เพื่อประมาณการค่าใช้จ่ายนั้นขึ้นอยู่กับการตกลงกันเบื้องต้น สามารถคำนวณได้ 2 วิธี คือ การคำนวณตามพื้นที่โดยนำความกว้างคูณความสูงของด้านนั้น ๆ แล้วนำพื้นที่ที่ได้มาคูณกับราคาค่าใช้จ่ายต่อตารางเมตรที่ทางบริษัทผู้ขายวอลเปเปอร์กำหนดไว้ อีกวิธีหนึ่งคือ คำนวณตามการใช้สินค้าจริงเป็นม้วน อย่างไรก็ตามการติดตั้งอาจใช้มากกว่าพื้นที่จริงประมาณ 10-20 % แล้วแต่ลวดลาย หากว่าต้องการรื้อวอลเปเปอร์เดิมที่ติดอยู่บนผนัง ทางบริษัทผู้ขายวอลเปเปอร์จะคิดค่าใช้จ่ายในการรื้อด้วย

การพิจารณาเลือกบริษัทผู้ขายวอลเปเปอร์ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก คือ การเลือกบริษัทที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อความสะดวกในการติดต่อและติดตามงาน การเลือกประเภทและลวดลายของวอลเปเปอร์ควรพิจารณาจากจำนวนที่มีให้เลือกว่ามากน้อยเพียงใด และราคาเหมาะสมหรือไม่ โดยสอบถามจากหลาย ๆ แห่งเพื่อเปรียบเทียบกัน นอกจากนี้ การบริการหลังการขายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ควรสอบถามถึงระยะการรับประกันและบริการซ่อมแซมให้ เมื่อตกลงกับบริษัทผู้ขายวอลเปเปอร์แล้ว ทางบริษัทก็จะส่งช่างมาวัดพื้นที่และคำนวณราคา พร้อมทั้งตกลงเรื่องระยะเวลาการติดตั้งจนแล้วเสร็จ ในขั้นตอนนี้หากเกิดข้อสงสัยใดๆ ควรสอบถามให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาขึ้นภายหลัง

ที่มา : www.thaihomemaster.com

เทคนิคการทำความสะอาดห้องต่างๆ ของบ้านแสนรักของคุณ

ห้องอ่านหนังสือ

หน้าต่าง
วิธีที่ง่ายและประหยัดที่สุดคือการใช้หนังสือพิมพ์ชุบน้ำแล้วเช็ด แต่ถ้าใครไม่ชอบกลิ่นของหมึกจากหนังสือพิมพ์ให้ใช้น้ำ 1 ส่วนผสมน้ำส้มสายชู 2ส่วน แล้วใช้ผ้าชุบเช็ดบริเวณกระจกหรือหน้าบานตู้เก็บหนังสือ เท่านี้กระจกก็จะกลับมาเหมือนใหม่แล้ว
ชั้นหนังสือบิลท์อิน
ส่วนใหญ่ตู้แบบบิลท์อินมักปิดผิวด้วยแผ่นลามิเนตหรือเมลามีนซึ่งทนต่อการขูดขีด ฝุ่นหรือคราบสกปรกเกาะติดยากจึงง่ายต่อการทําความสะอาดง่าย เพียงใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ด แต่จุดที่มักสกปรกคือบริเวณรอยต่อระหว่างแผ่นที่มักมีสิ่งสกปรกฝังแน่นให้ใช้ผ้าชุบน้ำยาทําความสะอาดเฟอร์นิเจอร์ทั่วไปเช็ดออก
ห้องนั่งเล่น

ผนังวอลล์เปเปอร์
หากเปื้อนคราบน้ำมันให้ใช้แป้งฝุ่นผสมกับน้ำยาทําความสะอาดป้ายบริเวณที่เปื้อนคราบน้ำมัน ทิ้งไว้จนแห้งแล้วใช้ผ้าเช็ด คราบก็จะหลุดออกมา แต่วอลล์เปเปอร์บางชนิดต้องใช้น้ำยาทําความสะอาดเฉพาะตัว จึงควรสอบถามทางผู้จําหน่ายก่อนที่จะทําความสะอาด
พื้นไม้ลามิเนต
แม้พื้นลามิเนตจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการดูแลรักษา แค่ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำยาทําความสะอาดสัปดาห์ละครั้งก็พอ แต่หากเลอะสารเคมีให้ใช้ผ้าชุบทินเนอร์หรือน้ำมันสนเช็ดให้รอยเปื้อนออก แล้วใช้ผ้าชุบน้ำยาทําความสะอาดเช็ดซ้ำอีกครั้ง
เฟอร์นิเจอร์ไม้
คราบไขมันบนเฟอร์นิเจอร์ไม้ทําความสะอาดได้โดยใช้ผ้าชุบน้ำส้มสายชู 2 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำ 1 ช้อนโต๊ะ แล้วเช็ดบริเวณที่เปื้อน หากมีรอยขีดข่วนให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำมันชักเงาถูจนรอยขีดข่วนจางไป เมื่อทําความสะอาดแล้วควรลงน้ำมันเพื่อช่วยรักษาเนื้อไม้อย่างสม่ำเสมอ
.................................................................

ห้องนอน

ผ้าม่าน
การทําความสะอาดผ้าม่านขึ้นอยู่กับเนื้อผ้า ซึ่งผ้าม่านส่วนใหญ่มักมีเส้นใยสังเคราะห์เป็นส่วนประกอบจึงควรซักด้วยมือโดยใช้น้ำยาซักผ้าซักกับน้ำอุ่น แต่อย่าบิด ไม่งั้นผ้าม่านสุดหรูอาจจะดูไม่จืดก็เป็นได้
ที่นอน
ไม่ว่าจะเป็นที่นอนแบบใด ให้หมั่นนําออกมาตากแดด เพื่อให้ที่นอนได้ถ่ายเทอากาศ ช่วยลดฝุ่นละออง และควรกลับด้านที่นอนเป็นประจําทุกๆ 3 เดือน หากมีรอยเปื้อนหรือคราบสกปรกให้ใช้ผ้าชุบน้ำสบู่เช็ดเบาๆ แล้วนําไปตากแดดให้แห้งก่อนนํากลับมาใช้งาน
พื้นไม้
นอกจากการกวาดถูตามปกติแล้ว พื้นไม้ในห้องนอนควรลงน้ำยาประเภทโพลียูรีเทนเพื่อป้องกันผิวไม้จากหยดน้ำและคราบสกปรกต่างๆ หากเกิดรอยคราบบนผิวไม้ให้ใช้ผ้าชุบน้ำมันสนหมาดๆ แล้วเช็ดสักพักคราบสกปรกก็จะหายไป
เครื่องปรับอากาศ
ควรทําความสะอาดแผ่นกรองที่อยู่ด้านในอย่างน้อยเดือนละครั้ง ด้วยการถอดออกมาจากเครื่องแล้วใช้น้ำฉีดทางด้านหลังของแผ่นให้ฝุ่นหลุดออกมา ส่วนการล้างเครื่องปรับอากาศแบบเต็มระบบควรทําอย่างน้อยปีละครั้งและควรยกให้เป็นหน้าที่ของช่างจากศูนย์บริการจะดีที่สุด
.................................................................
ห้องโฮมเธียเตอร์

พื้นพรม
ควรดูดฝุ่นอย่างสม่ำเสมอและทั่วถึงเพื่อไม่ให้เป็นที่สะสมของฝุ่นละอองหากต้องการทําความสะอาดพรมทั้งผืนควรนําไปซักด้วยน้ำยาซักพรมโดยใช้แปรงขนอ่อนถูไปในทิศทางเดียวกันให้ทั่วแล้วล้างน้ำตากให้แห้งถ้าเปื้อนคราบน้ำมันจากอาหารให้ใช้เบกกิ้งโซดาเทลงตรงบริเวณที่เปื้อนทิ้งไว้ประมาณ 12 ชั่วโมง แล้วใช้เครื่องดูดฝุ่นดูดคราบก็จะจางหายไป
อุปกรณ์เครื่องเล่นภาพและเสียง
ควรหมั่นเช็ดฝุ่นละอองด้วยผ้านุ่มๆ (หรือผ้าไมโครไฟเบอร์) แต่ไม่ต้องชุบน้ำในบริเวณที่ไม่สามารถเอื้อมมือเข้าไปเช็ดได้ให้ใช้ลูกยางเป่าลมไล่ฝุ่นแทน ส่วนโทรทัศน์ประเภทจอแบนให้ใช้น้ำยาสําหรับเช็ดหน้าจอโดยเฉพาะ (มีขายที่ร้านคอมพิวเตอร์) เช็ดเบาๆ รอให้แห้งสนิทจึงจะใช้งานได้ และใครอยากจะใช้สเปรย์ป้องกันไฟฟ้าสถิตพ่นที่ตัวเครื่องเพื่อป้องกันฝุ่นละอองอีกรอบก็ไม่มีปัญหา

วัสดุบุผนัง
ถ้าใช้แผ่นยิปซัมสําหรับดูดเสียงซึ่งจะมีรูพรุนมาก ควรดูดฝุ่นเป็นประจําหรือใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ด หากมีรอยเปื้อนที่เช็ดไม่ออกให้ใช้สีที่ใกล้เคียงแต้มเพื่อปิดรอยเปื้อน หากเป็นผ้าบุผนังชนิดที่ถอดมาซักไม่ได้ ให้ทําความสะอาดด้วยการดูดฝุ่นเช่นกัน ถ้าเป็นคราบให้ใช้น้ำสบู่อ่อนเช็ดแล้วใช้ดรายเป่าผมเป่าให้แห้ง
................................................................

ห้องน้ำ

กระเบื้องพื้น-ผนัง
ส่วนใหญ่คราบสกปรกและเชื้อราดํามักจะเกิดขึ้นในห้องน้ำที่อับชื้นโดยเฉพาะบริเวณร่องยาแนวกระเบื้องหรือมุมห้องที่มีน้ำขัง ควรทําความสะอาดโดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อราฉีดบริเวณที่เกิดเชื้อรา ทิ้งไว้สักครู่แล้วใช้แปรงขัดออก นอกจากนั้นแล้วควรป้องกันเชื้อราดําอย่างถาวรด้วยการติดตั้งพัดลมดูดอากาศหรือช่องเปิดที่ให้แสงสว่างและมีการระบายอากาศได้
ปูนเปลือย
คุณสมบัติของปูนเปลือยนั้นไม่เหมือนกระเบื้อง ทำให้เกิดตะไคร่น้ำได้ง่ายกว่าจึงต้องหมั่นทําความสะอาดและดูแลรักษาให้แห้งอยู่เสมอ ในจุดที่เกิดตะไคร่น้ำ ให้ฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อราและตะไคร่น้ำบนพื้นผิวปูนเปลือยทิ้งไว้ประมาณ 10 นาทีแล้วล้างออก หลังจากพื้นผิวแห้งสนิทให้ใช้น้ำยาป้องกันตะไคร่น้ำมาเคลือบพื้นผิวทิ้งไว้ประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง แล้วจึงทาอีกครั้งก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้
สุขภัณฑ์ห้องน้ำ
สุขภัณฑ์ห้องน้ำส่วนใหญ่มักจะเป็นสีขาวและปัญหาที่พบมากก็คือเมื่อใช้งานไปนานวัน สุขภัณฑ์ก็จะดูหม่นหมอง ไม่สดใสเหมือนวันแรกที่ซื้อมา คุณสามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการใช้คลอรีนผสมน้ำแล้วเทลงในอ่างล้างหน้า ทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง หากเป็นโถสุขภัณฑ์ให้ใช้แปรงขนอ่อนชุบคลอรีนแล้วขัดเบาๆ แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด เท่านี้สุขภัณฑ์ของคุณก็สะอาดเหมือนใหม่

ห้องครัว

พื้นกระเบื้อง
จุดที่ควรระวังของพื้นห้องครัวคือบริเวณร่องระหว่างแผ่นที่มักมีสิ่งสกปรกตกค้างอยู่แม้จะยาแนวแล้วก็ตาม ต้องหมั่นทําความสะอาดด้วยการใช้แปรงขนอ่อนชุบน้ำสบู่หรือผงซักฟอกแล้วขัดเบาๆ ถ้าเกิดเชื้อราควรใช้น้ำยาทําความสะอาดชนิดมีสารป้องกันเชื้อราก็จะช่วยได้
ผนังทาสี
คราบสกปรกจากการทําอาหาร ไอน้ำมัน ความชื้นต่างๆ มักเกาะติดอยู่ตามผนังครัว โดยเฉพาะบริเวณที่ปรุงอาหาร ต้องหมั่นใช้ผ้าชุบน้ำยาทําความสะอาดเช็ดเป็นประจํา หากมีโอกาสทาสีใหม่ก็ควรเลือกใช้สีทาผนังประเภทเช็ดล้างได้ซึ่งช่วยให้ทําความสะอาดง่ายและคราบสกปรกเกาะติดยากขึ้นด้วย
อุปกรณ์ครัว
สิ่งสกปรกที่พบมากคือคราบไขมันจากการปรุงอาหารจึงควรหมั่นทําความสะอาดอุปกรณ์ทําครัวด้วยการนํามาแช่น้ำยาทําความสะอาดเครื่องครัวหรือน้ำร้อนก่อนที่จะนําไปล้าง เพราะจะช่วยทําให้คราบสกปรกที่ติดอยู่หลุดออกมาได้ง่ายขึ้นกว่านําไปล้างเลยทันที

ที่มาจาก : นิตยสาร Home&decor

การทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ ภายในบ้าน

หลายๆ คนคงปวดหัวทุกครั้ง เมื่อถึงเวลาต้องมานั่งทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ ภายในบ้านที่มีวัสดุต่างชนิดกันมากมาย ตั้งแต่วัสดุปูพื้นห้องนอน ห้องน้ำ หรือผนัง เราลองมาดูเคล็ดลับดีๆ ในการทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ กัน

พื้นกระเบื้องเซรามิกและกระเบื้องโมเสก ให้ใช้แปรงที่มีขนอ่อนๆ ชุบน้ำสบู่หรือผงซักฟอก แล้วขัดบริเวณที่เป็นคราบสกปรกซ้ำๆ โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อ ถ้ามีเชื้อราให้ทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด

พื้นหินเทียมหรือหินสังเคราะห์ให้ใช้น้ำอุ่นผสมกับเบกกิ้งโซดาเช็ดบริเวณที่เกิดคราบสกปรก ถ้าคราบสกปรกฝังลึกให้ผสมเบกกิ้งโซดาจนข้นแล้วนำไปพอกบริเวณนั้นๆ ทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมงแล้วจึงเช็ดออก แต่ถ้าเกิดรอยถลอกขีดข่วนให้ใช้น้ำยาเฉพาะ

พื้นไม้ธรรมชาติ เป็นวัสดุที่ดูแลรักษาง่าย แต่ต้องระวังเรื่องความชื้นและไม่ให้น้ำซึมเข้าสู่เนื้อไม้ ส่วนใหญ่มักจะเคลือบด้วยน้ำยารักษาเนื้อไม้ (ยูรีเทน) ถ้าสกปรกมากให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหมาดๆ เช็ด แล้วเช็ดตามด้วยผ้าแห้งทันที ถ้ามีคราบสกปรกที่เช็ดไม่ออกให้ใช้น้ำมะนาวทาทิ้งไว้ประมาณ 1 คืนแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด

พื้นแผ่นลามิเนต เป็นพลาสติกที่เกิดรอยขีดข่วนได้ง่าย และต้องระวังไม่ให้สัมผัสกับภาชนะร้อนๆ โดยตรง วิธีทำความสะอาดให้ใช้ผ้าชุบน้ำผสมเบกกิ้งโซดาหมาดๆ เช็ดบริเวณที่เปื้อนสิ่งสกปรกแต่ระวังอย่าให้โดนน้ำมาก เพราะอาจทำให้กาวที่ติดลามิเนตหลุดออกได้

สเตนเลส ดูแลรักษาง่าย โดยใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดเช็ด แต่ถ้าเป็นคราบที่เช็ดไม่ออกให้ใช้แอลกอฮอล์หรือยาสีฟันทาลงไปก่อนแล้วค่อยใช้ผ้าเช็ด และถ้าต้องการให้สเตนเลสดูใหม่อยู่เสมอ ควรลงน้ำยารักษาสเตนเลสเดือนละ 2 ครั้ง

กระจก วิธีทำความสะอาดนอกจากจะใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ชุบน้ำอย่างที่เคยแล้ว เราอาจใช้น้ำส้มสายชู แอมโมเนียเจือจางหรือเบกกิ้งโซดา แต่ถ้าไม่อยากเหนื่อยก็สามารถใช้เครื่องมือเช็ดกระจกที่มีแถบยางกว้างๆ จะได้ทุ่นแรง ส่วนตามมุมขอบใช้เสื้อผ้าเก่าๆ เช็ดก็ได้


พื้นหินแกรนิต เนื้อหินจะมีรูพรุน ถ้าทำน้ำหกจะทำให้เกิดเชื้อราได้ให้รีบเช็ดทันที ถ้าเกิดคราบสกปรกให้ใช้ผ้าชุบน้ำ 2 ถ้วยผสมน้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ ผงฟู บอแรกซ์ และน้ำยาล้างจานอย่างละ 1 ช้อนเช็ดบริเวณที่เกิดคราบสกปรก


พื้นหินอ่อน ดูแลรักษายาก เพราะซึมน้ำได้ง่าย จึงทำให้มีคราบไขมันและกลิ่นอาหารฝังอยู่ ถ้าป็นคราบสกปรกที่ฝังแน่นมากๆ ให้ใช้ทาร์ทาร์ซอสผสมน้ำมะนาวป้ายที่รอยสกปรกแล้วทิ้งไว้สักพัก ล้างออกด้วยน้ำปล่า ระวังอย่าใช้วัสดุที่เป็นเส้นหยาบๆ เช็ดเพราะจะทำให้เกิดรอยขีดข่วน

เพียงแค่นี้เรื่องการทำความสะอาดพื้นผิววัสดุต่างๆ ภายในบ้านของคุณก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายๆ และไม่น่าเบื่ออีกต่อไป

ที่มา : http://www.homeworks.co.th (เคล็ดลับน่ารู้กับ Mr.TipMan : เคล็ดลับการทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ ภายในบ้าน)

เสาเข็ม

โครงสร้างของฐานราก
ฐานรากของบ้านเป็นสิ่งที่ให้ความมั่งคงและแข็งแรงให้แก่ตัวบ้านเป็นอันดับแรก ถ้าจะเปรียบเทียบ กับต้นไม้ใหญ่ก็เปรียบเสมือนรากแก้วของต้นไม้เลยที่เดียว ต้นไม้ที่มีรากแก้วใหญ่จะหยั่งรากลึกลงไปในดิน ยิ่งมากเท่าไรก็ย่อมก่อเกิดความมั่งคงแข็งแรงแก่ต้นไม้นั้นมากขึ้นเท่านั้น บ้านก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีฐานรากที่ มั่นคงแข็งแรงผู้อยู่อาศัยก็ย่อมอุ่นใจได้ว่าบ้านที่อยู่นั้นจะไม่เอียงหรือทรุดลงมาในภายหลัง ซึ่งผู้อ่านก็คงได้ ยินข่าวเกี่ยวกับตึกแถวที่เอียงและพังถล่มลงมาซึ่งมีสาเหตุมาจากโครงสร้างของฐานรากที่ไม่แข็งแรงนั่นเอง
ส่วนประกอบที่สำคัญของโครงสร้างของฐานรากก็คือส่วนที่อยู่ลึกที่สุดลงไปในดินนั่งก็คือเสาเข็ม ผู้ซื้อบ้านหรือผู้ปลูกบ้านส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยสนใจหรือให้ความสำคัญกับเสาเข็มมากนัก เหตุผลหนึ่ง อาจ เป็นเพราะเสาเข็มซ่อนอยู่ใต้ดินเมื่อตอกลงไปแล้วก็หายไป ไม่ปรากฏเป็นหน้าเป็นตาของตัวบ้านแต่ประการใด อีกเหตุผลหนึ่งคงจะเป็นเพราะว่าการกำหนดว่าบ้านแต่ละแบบแต่ละหลังจะต้องใช้เสาเข็มชนิด ใด ขนาดใด เป็นจำนวนเท่าใดนั้น จะต้องใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมมาคำนวณและกำหนดลงไป ซึ่งควร จะเป็นหน้าที่ของวิศวกรผู้ออกแบบและผู้ควบคุมการก่อสร้างที่จะดำเนินขั้นตอนเหล่านี้ให้เป็นไปด้วยความ เรียบร้อย ผู้ซื้อบ้านหรือผู้ปลูกบ้านส่วนใหญ่มิได้มีพื้นความรู้ในสิ่งเหล่านี้จึงไม่น่าจะเป็นภาระที่จะต้องมากัง วล หรือสนใจกับสิ่งเหล่านี้ ความคิดเช่นนี้จะถูกหรือผิดเสียทีเดียวก็คงไม่ได้ แต่ในการออกแบบหรือควบคุมการปลูกสร้างบ้าน แต่ละหลัง บางครั้งก็มิใช่ว่าจะถูกต้องสมบูรณ์ไปเสียทั้งหมด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับมาตรฐาน ประสบการณ์ และความชำนาญของผู้ออกแบบและผู้ควบคุมการก่อสร้างแต่ละรายด้วย การที่ผู้ซื้อบ้านหรือผู้ปลูกบ้านมีความ รู้เกี่ยวกับการสร้างบ้านบ้างก็ย่อมจะเป็นการได้เปรียบ อย่างน้อยก็เพื่อเป็นข้อคิดหรือข้อสังเกต เมื่อพบเห็นสิ่งผิดสังเกตหรือข้อสงสัยจะได้สามารถสอบถามเพื่อขอคำชี้แจงได้ ซึ่งจะทำให้เจ้าของบ้านสามารถป้องกันหรือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ตั้งแต่แรก

ประเภทของเสาเข็ม
เสาเข็มที่ใช้กับอาคารบ้านเรือนทั่วไปในปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ตามลักษณะของการผลิตและการใช้งาน ได้แก่
1. เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง ( prestressed concrete pile )
2. เสาเข็มเจาะ ( bored pile )
3. เสาเข็มกลมแรงเหวี่ยงอัดแรง ( prestressed concrete spun pile )
ในที่นี้จะขอกล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับเสาเข็มแต่ละประเภทพร้อมทั้งข้อสังเกตที่สำคัญบางประการ ดังต่อไปนี้

เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง
เสาเข็มคอนกรีตอัดแรงเป็นเสาเข็มที่ใช้กันแพร่หลายสำหรับอาคารพานิชย์และบ้านพักอาศัยทั่วไป เป็นเสาคอนกรีตที่ทำจากปูนซีเมนต์ชนิดแข็งตัวเร็วและโครงเหล็กภายในทำจากลวดเหล็กอัดแรงกำลังสูง กรรมวิธีที่ใช้ในการลงเสาเข็มจะเป็นการตอกกระแทกลงไปในดินโดยใช้ปั้นจั่นซึ่งเป็นกรรมวิธีที่ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อนและประหยัดค่าใช้จ่าย
เสาเข็มคอนกรีตอัดแรงสามารถแบ่งแยกย่อยออกไปได้อีกตามรูปร่างลักษณะของเสาเข็ม ที่ใช้กัน แพร่หลาย ได้แก่
1. เสาเข็มรูปตัวไอ
2. เสาเข็มสี่เหลี่ยมตัน
3. เสาเข็มหกเหลี่ยมหรือแปดเหลี่ยมชนิดกลวง
4. เสาเข็มรูปตัวที
ชนิดเสาเข็มที่ใช้สำหรับรับน้ำหนักของตัวบ้านโดยทั่วไปจะเป็นเสาเข็ม รูปตัวไอ ส่วนขนาดและ ความยาวนั้นขึ้นอยู่กับวิศวกรผู้ออกแบบเป็นผู้กำหนด ส่วนเสาเข็มหกเหลี่ยมหรือแปดเหลี่ยมชนิดกลวง หรือเสาเข็มรูปตัวทีนั้นมักจะใช้กับงานโครงสร้างที่เล็กกว่าหรือการรับน้ำหนักน้อยกว่า เช่น งานฐานราก ของรั้ว

เสาเข็มเจาะ
เสาเข็มเจาะเป็นเสาเข็มอีกประเภทหนึ่งซึ่งแตกต่างจากเสาเข็มคอนกรีตอัดแรงในลักษณะของการใช้ งาน กรรมวิธีในการทำเสาเข็มเจาะค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน และจะต้องทำ ณ สถานที่ที่จะใช้งานจริงเลย โดยใช้เครื่องมือเจาะขุดดินลงไปให้ได้ขนาดของเส้นผ่านศูนย์กลางและความลึกของเสาเข็มตามที่กำหนดจาก นั้นจึงจะใส่เหล็กเสริมและเทคอนกรีตลงไปเพื่อหล่อเป็นเสาเข็ม
เสาเข็มเจาะสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆตามขนาดของเสาเข็มและกรรมวิธีที่ใช้ อันได้แก่

1. เสาเข็มเจาะขนาดเล็ก ( small diameter bored pile )
เป็นเสาเข็มเจาะที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ในช่วง 35-60 เซนติเมตร ( ส่วนใหญ่จะเป็น ขนาด เส้นผ่านศูนย์กลาง 35, 40, 50, 60 เซนติเมตร ) มีความลึกอยู่ในช่วงประมาณ 18-23 เมตร กรรมวิธีที่ใช้ในการเจาะมักจะเป็นแบบแห้ง ( dry process ) ซึ่งเป็นการขุดเจาะโดยใช้เครื่องมือขุดเจาะ ลงไปตามธรรมดา

2. เสาเข็มเจาะขนาดใหญ่ ( large diameter bored pile )
เป็นเสาเข็มเจาะที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 60 เซนติเมตรขึ้นไป ( ส่วนใหญ่จะมี ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 80, 100, 120, 150 เซนติเมตร ) มีความลึกอยู่ในช่วงประมาณ 25-65 เมตร กรรมวิธีที่ในการเจาะมักจะเป็นระบบเปียก ( wet process ) ซึ่งแตกต่างจากระบบแห้ง คือจะต้องเพิ่ม ขั้นตอนในการฉีดสารเคมีเหลวซึ่งเรียกว่า Bentonite slurry ลงไปในหลุมที่ทำการขุดเจาะ โดยเฉพาะ หลุมที่มีความลึกมากๆถึงชั้นทรายหรือหลุมที่มีน้ำใต้ดิน ทั้งนี้ เพื่อสร้างแรงดันในหลุมที่เจาะและยึดประ สานผิวดินในหลุมเพื่อป้องกันมิให้ผนังหลุมที่เจาะพังทลายลงมา

การใช้เสาเข็มเจาะจะไม่ก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนอันอาจเป็นอันตรายต่ออาคารข้างเคียง เพราะไม่มี การตอกกระแทกของปั้นจั่นดังเช่นที่ใช้กับเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง อีกทั้งขนาดของเสาเข็มเจาะก็อาจทำให้มีขนาดใหญ่โดยมีขนาดของเส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง 200 เซนติเมตร เพราะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับข้อจำกัดของขนาดของปั้นจั่นและน้ำหนักของตัวเสาเข็ม ขณะที่เสาเข็มคอนกรีตอัดแรงนั้นขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่ใช้กันทั่ว ไปมีขนาดความกว้างของพื้นที่หน้าตัดเพียง 40 เซนติเมตรเท่านั้น อีกทั้งความลึกของเสาเข็มเจาะก็สามมารถเจาะได้ลึกกว่าความยาวของเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง ฉะนั้นเสาเข็มเจาะจึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับอาคารสูงซึ่ง ต้องรับน้ำหนักมากและอาคารที่สร้างใกล้ชิดเพื่อป้องกันมิให้เกิดการสั่นสะเทือนซึ่งจะเป็นอันตรายต่ออาคาร ข้างเคียง ในทางปฏิบัติแล้วขั้นตอนในการทำเสาเข็มเจาะจะมีรายละเอียดที่ยุ่งยากซับซ้อนกว่าที่กล่าวไว้มาก ที่กล่าวมาข้างต้นก็เพียงต้องการให้มองเห็นภาพและขั้นตอนของการทำเสาเข็มเจาะเพียงคร่าว ๆ เท่านั้น การปลูกบ้านพักอาศัยโดยทั่วไปมักจะใช้เสาเข็มคอนกรีตอัดแรงเพราะมีขั้นตอนที่ง่ายกว่าและราคาถูกกว่า เสาเข็มเจาะ

เสาเข็มกลมแรงเหวี่ยงอัดแรง
เสาเข็มกลมแรงเหวี่ยงอัดแรงหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าเสาเข็มสปัน เป็นเสาเข็มที่ผลิตที่ใช้กรรมวิธีการ ปั่นคอนกรีตในแบบหล่อซึ่งหมุนด้วยความเร็วสูงทำให้เนื้อคอนกรีตมีความหนาแน่นสูงกว่าคอนกรีตที่หล่อ โดยวิธีธรรมดา จึงมีความแข็งแกร่งสูง รับน้ำหนักได้มาก เสาเข็มสปันมีลักษณะเป็นเสากลม ตรงกลางกลวง มีโครงลวดเหล็กอัดแรงฝังอยู่ในเนื้อคอนกรีตโดยรอบ การตอกเสาชนิดนี้สามารถทำได้หลายแบบ ทั้งวิธีการตอกด้วยปั้นจั่นแบบธรรมดา และวิธีการตอกด้วยระบบเจาะกด
เสาเข็มสปันมีให้เลือกใช้หลายขนาด ที่พบเห็นกันมากมีตั้งแต่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 - 100 เซนติเมตร มีความหนาของเนื้อคอนกรีตอยู่ในช่วง 6 - 14 เซนติเมตร โดยมีความยาวอยู่ในช่วง 6 - 18 เมตร ขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิต ซึ่งความยาวนี้สามารถเพิ่มได้โดยการนำเสามาเชื่อมต่อกัน เนื่องจากเสาเข็มสปันมีลักษณะกลวงจึงช่วยลดการสั่นสะเทือนเวลาตอก และถ้าเสาเข็มที่ใช้ความ ยาวมากก็สามารถลดแรงดันของดินในขณะตอกได้โดยการเจาะนำและลำเลียงดินขึ้นทางรูกลวงของเสา ซึ่ง จะช่วยลดความกระทบกระเทือนที่มีต่ออาคารข้างเคียงได้มาก เสาชนิดนี้เหมาะสำหรับใช้เป็นฐานรากของอาคารสูงที่ต้องการความมั่นคงแข็งแรงสูงเพื่อป้องกันปัญหาเรื่องลมแรงและการเกิดแผ่นดินไหว

ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับเสาเข็มที่ใช้และกรรมวิธีในการตอก
ข้อสังเกตในที่นี้จะเน้นกล่าวถึงเฉพาะที่เกี่ยวกับเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง เนื่องจากเป็น เสาเข็มที่ใช้ กันแพร่หลายสำหรับอาคารบ้านเรือนทั่วไป
1. เสาเข็มที่ใช้ควรอยู่ในสภาพที่ดีไม่มีการแตกหักหรือชำรุดมาก่อน ถ้าเป็นไปได้ควร ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ( สมอ. ) โดยมี เครื่องหมายรับรองมาตร ฐานอุตสาหกรรม ( มอก. ) ประทับอยู่ และมีการระบุถึงวัน / เดือน / ปี ที่ทำการผลิตว่าผลิตออกมาเมื่อใด ถ้าเป็นไปได้เสาเข็มที่ใช้ควรจะมีอายุการผลิต 4 สัปดาห์ขึ้นไป เพราะ เสาเข็มที่เพิ่งผลิตออกมาใหม่คอนกรีต ที่ใช้ทำเสาเข็มยังบ่มตัวไม่เข้าที่ ความแข็งแกร่งยัง มีน้อยอาจเกิดการชำรุดหรือแตกหักระหว่างการตอกได้

2. เสาเข็มที่มีขนาดยาวอาจใช้เสาเข็มขนาดสั้น 2 ท่อนมาเชื่อมต่อกันได้เพื่อความ สะดวกในการ ตอกหรือความสะดวกในการขนส่ง ทั้งนี้ เสาเข็มที่นำมาเชื่อมต่อกันจะต้องมีลักษณะ และขนาดของพื้นที่หน้าตัดเหมือนกัน กรรมวิธีในการตอกคือจะทำการตอกเสาท่อนแรกลงไปใน ดินจนเกือบมิดก่อนแล้วใช้ปั้นจั่นดึงเสาท่อนที่สองขึ้นมาจรดกับเสาท่อนแรกในแนวตรง แล้วทำการ เชื่อมเหล็กที่ขอบเสาตรงรอยต่อให้ติดกัน การเชื่อมจะต้องเชื่อมอย่างประณีตโดยรอบให้เสาทั้ง 2 ท่อนต่อกันอย่างสนิทและเป็นแนวเส้นตรง จากนั้นจึงใช้ปั้นจั่นตอกลงไปต่อ

3. การตอกเสาเข็มให้ลึกถึงระดับ การจะดูการตอกเสาเข็มในแต่ละจุดเสร็จสิ้นเรียบ ร้อยได้ผล ตามมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่นั้น มิใช่ดูแต่เพียงว่าเสาเข็มตอกจมมิดลงไปใน ดินเท่านั้น แต่จะต้องดู จำนวนครั้งในการตอกด้วย ( blow count ) ว่าเสาเข็มแต่ละต้นใช้ จำนวนครั้งในการตอกเท่าใดจนเสาเข็ม จม มิดดิน ถ้าจำนวนครั้งในการตอกน้อยเกินไป คือสามารถตอกลงไปได้ง่าย แสดงว่าความแน่นของดิน ที่จุดนั้นที่จะใช้ในการรับน้ำหนักยัง ไม่เพียงพอ อาจจะต้องมีการต่อเสาเข็มและตอกเพิ่มลงไปอีกจนกว่าจำนวนครั้งในการตอกจะ เป็นไปตามที่กำหนด ในทางตรงกันข้าม ถ้าจำนวนครั้งในการตอกมากเพียงพอแล้วแม้ว่าเสาเข็มที่ตอกนั้น จะยังจมไม่ มิดก็อาจแสดงว่าความแน่นของดินที่จุดนั้นที่จะใช้ในการรับน้ำหนักเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นจะตอกต่อลงไปอีก เพราะการฝืนตอกต่อไปอาจทำให้เสาเข็มแตกหักหรือชำรุดได้ ส่วนจำนวนครั้งในการตอกเสาเข็ม แต่ละต้นควรจะเป็นเท่าใดนั้นวิศวกรจะเป็นผู้กำหนด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาดของพื้นที่หน้าตัด และความยาวของเสาเข็มนั้น ๆ

ที่มาของบทความ http://srangbaan.com/library-ch5-base.htm

อาคารประหยัดพลังงาน

หลักการ และเหตุผล :
เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีพลังงานเข้ามาเกี่ยวข้อง และมีแนวโน้มการใช้พลังงานกับอาคารมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต เช่น การทำความเย็น การทำความร้อน การให้แสงสว่าง การขนส่งในอาคาร เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ ล้วนต้องใช้ พลังงานทั้งสิ้น

นอกจากนี้ วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง และตกแต่งอาคาร เป็นสิ่งที่ต้องใช้พลังงานในการผลิตเช่นกัน ยิ่งวัสดุ มีขั้นตอนการผลิตซับซ้อนมากเท่าใด ยิ่งต้องใช้พลังงานมากขึ้นเท่านั้น

วิธีการติดตั้ง ก็ต้องใช้อุปกรณ์และพลังงานมากขึ้นด้วย พลังงานที่ใช้กับอาคารทั้งทางตรง และทางอ้อม ส่วนใหญ่ยังคงเป็นพลังงานประเภท ฟอสซิล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ปล่อยก๊าสเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ อาคารต่างๆ ที่เราใช้อยู่ จึง มีส่วนสำคัญในการใช้พลังงาน และสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่นกัน ใน ขณะที่ปัจจุบัน การสร้างอาคารทั่วไป และการเลือกใช้วัสดุส่วนใหญ่จะคำนึงถึงเรื่องความสวยงาม เป็นหลัก

วัตถุประสงค์
1. เพื่อใช้เป็นห้องสมุดของอาคารอาศรมพลังงาน
2. เพื่อให้เป็นอาคารตัวอย่างที่แสดงแนวคิด และเทคโนโลยีต่างๆ ด้าน Sustainable Building
3. เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้าน Sustainable Building

เทคนิคที่นำมาใช้ในการออกแบบ
1. การนำระบบธรรมชาติ (Passive/ nature-driven technology) มาใช้ประกอบ การออกแบบ
1.1 การกำหนดทิศทาง และตำแหน่งของตัวอาคาร ( Building orientation) ให้ถูกต้องกับทิศทาง
โคจรของดวงอาทิตย์ และลม เพื่อให้อาคารโดนแสงแดดน้อย และรับลมได้เต็มที่
1.2 การสร้างสภาพภูมิอากาศบริเวณอาคาร (Micro-climate) ให้เย็นด้วยการจัดภูมิสถาปัตย์
การปลูกต้นไม้ ทรงสูง ในบริเวณที่ต้องการให้ร่มเงา และลมสามารถพัดผ่านใต้พุ่มใบได้
1.3 ป้องกันความชื้นจากดินในส่วนเก็บหนังสือ โดยการยกพื้นอาคารสูงขึ้น ให้มีอากาศระบายใต้ถุนอาคาร
1.4 การนำแสงธรรมชาติ (Day lighting) มาใช้ โดยการออกแบบให้สามารถใช้แสงธรรมชาติได้
ในเกือบทุก ส่วนของอาคาร
1.5 การรักษาสภาพอุณหภูมิ ภายในอาคารให้อยู่ในสภาวะสบาย (Comfort Zone)
2. การใช้วัสดุ
- ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการนำวัสดุที่มีอยู่กลับมาใช้เพื่อไม่ต้อง ซื้อวัสดุสำหรับก่อสร้าง ใหม่ เป็นการรักษาทรัพยากร ลดการสร้างผลกระทบให้กับสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงานในการผลิตวัสดุ (Embodied Energy)
- ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly Material) และลดการใช้พลังงานในอาคาร การใช้วัสดุ และฉนวนป้องกันความร้อน (Thermal Envelope) ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศที่เปลือกอาคาร เพื่อ ป้องกัน หรือลดความร้อนที่ถ่ายเทเข้าสู่ภายในอาคาร

ข้อจำกัดของอาคาร
1.การป้องกันความชื้น จากอากาศภายนอก เนื่องจาก อาคารเป็นระบบเปิด จึงสามารถป้องกันความชื้น จาก อากาศภายนอกได้ยาก
2. การออกแบบไม่ได้ป้องกันแสงแดด ให้กับอาคารด้านทิศตะวันออก ซึ่งจะทำให้มีแสงแดด เข้าไปในอาคาร ด้านนี้
3. อาคารนี้ยังไม่ได้ออกแบบด้านคุณภาพของแสง และการนำเอาแสงธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ได้เต็มที่
4. เนื่องจาก ใช้อิฐบล็อกประสานทำเป็นผนัง ทำให้ผนังภายในห้องมีสีเข้ม ซึ่งจะทำให้ความสว่างภายในห้อง ลดลง
ที่มา: สมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม

มาตรฐานและวิธีการทำงานสำหรับคอนกรีต

การที่จะให้ได้โครงสร้างคอนกรีตที่ดี จะต้องประกอบไปด้วยการเลือกใช้คอนกรีตประเภทที่เหมาะสมกับการใช้งานต่างๆ และขั้นตอนการทำงานคอนกรีตที่ดี ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม จึงจะได้คุณภาพของงานที่ดี โครงสร้างคอนกรีตมีคุณสมบัติตามที่ต้องการและมีความแข็งแรง ทนทาน
ว.ส.ท. ได้แนะนำวิธีการทำงานสำหรับคอนกรีต จึงขอคัดลอกบางส่วนมาเป็นแนวทางการทำงานดังนี้

1.การลำเลียงคอนกรีต

ในการลำเลียงคอนกรีตที่ผสมแล้วต้องคำนึงถึงสภาพการลำเลียงคอนกรีตว่าต้องระวังให้เนื้อคอนกรีตสม่ำเสมอ และไม่แยกตัวก่อนการเทลงแบบ โดยต้องป้องกันคอนกรีตจากสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ เช่น อุณหภูมิ ความร้อน และความชื้น เป็นต้น


การเลือกวิธีการลำเลียงขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่างๆ ดังนี้

1) ปริมาณและอัตราการเทในแต่ละครั้ง
2) ขนาดและประเภทของโครงสร้าง
3) ลักษณะภูมิประเทศ สถานที่ทำงาน และเส้นทางการขนส่ง
4) ค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าแรง ค่าเครื่องจักรอุปกรณ์ เป็นต้น


ข้อแนะนำ
ควรใช้เวลาในการลำเลียงคอนกรีตให้น้อยที่สุด โดยวิธีการที่เหมาะสมและประหยัดที่สุด เพื่อลดระยะเวลาในการเทคอนกรีตซึ่งจะทำให้คุณสมบัติของคอนกรีตไม่เปลี่ยนแปลงและสม่ำเสมอ นอกจากนั้นเพื่อให้การลำเลียง และการเทคอนกรีตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ควรวางแผนการเทคอนกรีตทุกครั้ง โดยคำนึงถึงสภาพของคอนกรีต ลักษณะของโครงสร้างที่จะเทคอนกรีต วิธีการลำเลียง และวิธีการเทคอนกรีต โดยมีหัวข้อที่ต้องพิจารณาดังนี้

(1) การเลือกใช้คอนกรีต
นอกจากกำลังอัดคอนกรีตแล้ว ควรเลือกใช้คอนกรีตให้เหมาะสมกับการเทลงแบบโครงสร้าง และเลือกวิธีการลำเลียงโดยคำนึงถึง ระยะเวลาในการก่อตัว ความข้นเหลว เป็นต้น โดยทั่วไประยะเวลาในการก่อตัวของคอนกรีตจะขึ้นอยู่กับส่วนผสมคอนกรีต วัตถุดิบที่ใช้ สารผสมเพิ่ม อุณหภูมิ ความชื้นของอากาศ และวิธีการลำเลียง
(2) แผนการเทคอนกรีต
การกำหนดแผนการเทคอนกรีต ต้องพิจารณาคุณสมบัติของคอนกรีต ชนิดของโครงสร้าง วิธีการเทคอนกรีต ปริมาณการเทคอนกรีตในแต่ละครั้ง ความยากง่ายในการเท สภาพอากาศ และอื่นๆ ที่มีผลต่อการเทคอนกรีต
(3) เครื่องมือและคนงานสำหรับการลำเลียง และการเทลงแบบ
การลำเลียงคอนกรีตควรรวดเร็วและใช้วิธีที่ประหยัด เพื่อลดการแยกตัวของคอนกรีต และลดการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของคอนกรีตในด้านความสม่ำเสมอและความสามารถในการเท ดังนั้นต้องพิจารณาจำนวน ประเภทของเครื่องมือ และจำนวนคนงานที่ใช้ในการลำเลียงคอนกรีต
(4) เส้นทางการลำเลียงคอนกรีต
ควรเตรียมเส้นทางการลำเลียงคอนกรีตให้พร้อมก่อนการเท เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการลำเลียง และเพื่อให้งานเทคอนกรีตสำเร็จลงได้โดยใช้เวลาน้อยที่สุด
(5) การตรวจสอบคอนกรีต
ในขณะที่ทำการลำเลียงควรมีวิธีการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าคอนกรีตมีความสม่ำเสมอไม่แยกตัว


วิธีการลำเลียงคอนกรีต
วิธีการลำเลียงคอนกรีตที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับสถานที่ผสมคอนกรีตและบริเวณที่จะทำการเทคอนกรีต โดยควรเลือกวิธีที่ไม่ทำให้คอนกรีตแยกตัว ตามข้อพิจารณาดังต่อไปนี้

1) เมื่อที่ผสมคอนกรีตอยู่ในระดับเดียวกับบริเวณที่ต้องการเทคอนกรีต ควรใช้วิธีการลำเลียงโดยคนงาน รถเข็น รถผสมคอนกรีต สายพานลำเลียง หรือคอนกรีตปั๊ม เป็นต้น
2) เมื่อที่ผสมคอนกรีตอยู่ในระดับสูงกว่าบริเวณที่ต้องการเทคอนกรีต ควรใช้วิธีการลำเลียงโดยราง สายพานลำเลียง หรือคอนกรีตปั๊ม เป็นต้น
3) เมื่อที่ผสมคอนกรีตอยู่ในระดับต่ำกว่าบริเวณที่ต้องการเทคอนกรีต ควรใช้วิธีการลำเลียงโดยใช้รอก ใช้ลิฟท์ รถเครน ทาวเวอร์เครน สายพานลำเลียง หรือคอนกรีตปั๊ม เป็นต้น
4) เมื่อที่ผสมคอนกรีตอยู่ห่างจากบริเวณที่ต้องการเทคอนกรีต ต้องใช้วิธีการลำเลียงโดยรถโม่ขนคอนกรีตมาส่งที่หน่วยงาน และลำเลียงต่อไปสู่บริเวณที่ต้องการเทคอนกรีตด้วยวิธีอื่นที่เหมาะสม

2. การเทคอนกรีต

การเตรียมเทคอนกรีต
สิ่งที่ควรเตรียมก่อนเทคอนกรีต มีดังต่อไปนี้
1) ต้องตรวจสอบปริมาณ และตำแหน่งของเหล็กเสริมให้ถูกต้องตามที่ออกแบบไว้ ตลอดจนตรวจสอบแบบเทคอนกรีตและอุปกรณ์อื่นๆ ให้ถูกต้องตามแผนที่วางไว้
2) ตรวจสอบผนังของเครื่องมือลำเลียง เครื่องมือเท และผนังด้านในของแบบเทคอนกรีต เพื่อไม่ให้มีสิ่งสกปรกที่จะเข้าไปผสมกับคอนกรีตที่จะเท เช่น เศษดินโคลน หรือเศษไม้ เป็นต้น ผนังด้านในของเครื่องมือและแบบเทคอนกรีตดังกล่าว ควรจะมีการทำให้ชื้นก่อนเพื่อป้องกันการดูดซับน้ำจากคอนกรีตที่ลำเลียงหรือเท
3) ในการเทหลุมหรือบ่อ ควรกำจัดน้ำที่หลงเหลืออยู่ในบ่อก่อนที่จะเทคอนกรีต และควรป้องกันไม่ให้น้ำไหลลงไปในบ่อในขณะที่เทคอนกรีตหรือขณะที่เทเสร็จแล้วใหม่ๆ

ข้อแนะนำ
การผูกเหล็กเสริมและวางตำแหน่งเหล็กเสริมต้องมีความมั่นใจว่ามีความแข็งแรงพอที่จะไม่เลื่อนตำแหน่งในขณะที่เทคอนกรีต ไม้แบบต้องมีความแข็งแรงพอเช่นกัน เศษดิน โคลน หรือเศษไม้ ที่ตกค้างอยู่ตามผนังของเครื่องมือลำเลียงหรือในแบบ จะมีผลเสียต่อกำลังของคอนกรีตในบริเวณที่มีวัสดุเหล่านี้ปะปนเข้าไป การที่ผนังของเครื่องมือลำเลียงหรือผนังแบบเทคอนกรีตดูดซับน้ำจากคอนกรีตในขณะที่เทคอนกรีต จะทำให้ผิวคอนกรีตไม่เรียบเมื่อแกะแบบแล้ว จึงควรทำให้ผนังเหล่านั้นชื้นก่อนการเทคอนกรีต แต่ไม่ควรทำให้เปียกมากจนมีน้ำขังอยู่ในแบบ
การลำเลียงคอนกรีตผ่านท่อเป็นระยะทางไกลๆ ควรมีการส่งมอร์ต้าร์นำไปก่อน มอร์ต้าร์ที่ใช้ส่งนำไปควรเป็นมอร์ต้าร์ที่มีส่วนผสมเหมือนกับมอร์ต้าร์ในคอนกรีตที่จะเท ทั้งนี้เพื่อป้องกันการสูญเสียมอร์ต้าร์ไปเคลือบที่ผนังด้านในของท่อในช่วงต้นของการลำเลียงคอนกรีต
การเทคอนกรีตลงบนคอนกรีตเดิมหรือบนคอนกรีตที่เริ่มแข็งตัวแล้ว ควรเทมอร์ต้าร์ที่มีส่วนผสมเหมือนกับมอร์ต้าร์ในคอนกรีตที่จะเทลงไปก่อน ทั้งนี้เพื่อช่วยเพิ่มการยึดเกาะระหว่างคอนกรีตเดิมกับคอนกรีตที่เทใหม่ น้ำที่หลงเหลืออยู่ในบ่อที่จะเทคอนกรีตจะทำให้ส่วนผสมของคอนกรีตเปลี่ยนไป โดยทำให้กำลังของคอนกรีตและความทนทานลดลง ดังนั้นจึงควรกำจัดออกไปก่อนการเทคอนกรีต ในขณะที่เทคอนกรีตหรือในขณะที่คอนกรีตยังไม่แข็งตัวนั้น หากมีน้ำที่ไหลผ่านคอนกรีตน้ำจะกัดเซาะมอร์ต้าร์ออกจากผิวหน้าคอนกรีตได้ ทำให้ผิวคอนกรีตไม่สวย อีกทั้งกำลังและความทนทานในบริเวณนั้นจะลดลงด้วย


การเทคอนกรีต
ควรมีการวางแผนการเทคอนกรีตเพื่อให้สามารถเทได้อย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพที่สุด โดยไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคต่องานที่ไม่เกี่ยวข้อง การเทคอนกรีตที่ดี คือการเทเพื่อให้ได้คอนกรีตที่มีส่วนผสมสม่ำเสมอ ไม่มีการแยกตัว และไม่เกิดรูพรุน
ไม่ควรเทคอนกรีตให้กระทบโดยตรงกับเหล็กเสริมหรือข้างแบบ ควรเทคอนกรีตลงมาตรงๆ และไม่ควรให้คอนกรีตไหลไปในแนวราบเป็นระยะทางไกล ยกเว้นในกรณีของคอนกรีตไหล ซึ่งถูกออกแบบโดยมีการควบคุมการแยกตัว ถ้าพบว่ามีการแยกตัวของคอนกรีตหลังเริ่มการเทคอนกรีต จะต้องมีการแก้ไขทันที
ในกรณีที่แบ่งเทคอนกรีตต่อเนื่องกันเป็นชั้นๆ คอนกรีตที่เทใหม่ในชั้นบนควรเททับก่อนที่คอนกรีตชั้นล่างจะเริ่มก่อตัว
ในกรณีที่แบบมีความสูงมากไม่ควรเทคอนกรีตโดยปล่อยให้คอนกรีตตกอิสระจากส่วนบนที่สุดของแบบ แต่ควรใช้วิธีการใด ๆ เช่น สายพาน รางเท (Chute) ถัง หรือต่อท่อ เพื่อให้ระยะตกอิสระของคอนกรีตไม่เกิน 1.5 เมตร
ถ้าตรวจพบการเยิ้มของคอนกรีตระหว่างการเทคอนกรีต ควรหยุดเทจนกว่าจะกำจัดน้ำที่เยิ้มออกมาบนผิวคอนกรีตให้หมดก่อนที่จะเทคอนกรีตทับชั้นบนต่อไป
การเทคอนกรีตต่อเนื่องกันในองค์อาคารที่มีความสูง เช่น เสา หรือกำแพง ควรเทด้วยอัตราที่ไม่เร็วเกินไป โดยปกติอัตราการเทที่เหมาะสมจะอยู่ที่ประมาณ 2 ถึง 3 เมตร (ความสูง) ต่อชั่วโมง

ข้อแนะนำ
การแยกตัวของคอนกรีตในขณะที่เทอาจทำให้เกิดรูพรุน (Honey-comb) ในคอนกรีตที่เทแล้ว ทั้งนี้เนื่องมาจากการที่หินซึ่งแยกตัวจากมอร์ต้าร์จะรวมกันอุดตัวอยู่ในบริเวณเหล็กเสริมที่หนาแน่น และกีดขวางไม่ให้คอนกรีตผ่านเข้าไปเติมในบริเวณเหล่านั้นได้
การเทคอนกรีตอาจทำให้เหล็กเสริมหรือแบบเคลื่อนตัวได้ ดังนั้นเหล็กเสริมและแบบต้องมั่นคงเพียงพอ อย่างไรก็ตามในขณะเทคอนกรีตควรให้ช่างเหล็กและช่างแบบเตรียมพร้อมอยู่เสมอ หากจำเป็นต้องแก้ไขตำแหน่งของเหล็กเสริมและแบบที่เคลื่อนตัวเนื่องจากการเทคอนกรีตอย่างทันท่วงที
การบังคับให้คอนกรีตไหลไปในแนวราบเป็นระยะทางยาวๆ จะทำให้เกิดการแยกตัว ยกเว้นในกรณีของคอนกรีตไหลที่มีการออกแบบโดยควบคุมการแยกตัวที่ดี ดังนั้นไม่ควรใช้เครื่องเขย่าเพื่อทำให้คอนกรีตไหลไปเติมบริเวณข้างเคียง ควรระลึกอยู่เสมอว่าจุดประสงค์ของการใช้เครื่องเขย่า คือการทำให้คอนกรีตแน่นเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อเป็นการทำให้คอนกรีตไหลไปในแนวราบ
ถ้าพบว่าคอนกรีตที่เทไปแล้วมีการแยกตัวเกิดขึ้น แสดงว่าส่วนผสมของคอนกรีตไม่เหมาะสม จึงควรแก้ไขส่วนผสมของคอนกรีตทันทีที่ตรวจพบการแยกตัวก่อนที่จะทำการเทต่อไป
ควรเทคอนกรีตให้ต่อเนื่องให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยหลีกเลี่ยงการมีรอยต่อ ทั้งนี้เนื่องจากรอยต่อที่เกิดจากการเทไม่ต่อเนื่องจะเป็นบริเวณที่มีแรงยึดเหนี่ยวกับคอนกรีตเดิมน้อยกว่าบริเวณที่เทได้อย่างต่อเนื่อง
การเทคอนกรีตโดยปล่อยให้ตกจากที่สูงมากเกินไปจะทำให้คอนกรีตบางส่วนค้างอยู่ตามเหล็กเสริมและข้างแบบในส่วนบน และเมื่อคอนกรีตเหล่านี้แข็งตัวในขณะที่ยังเทขึ้นมาไม่เต็มแบบ อาจจะเป็นอุปสรรคสำหรับการเทต่อไป เช่น กีดขวางการไหลของคอนกรีตที่เทขึ้นมาถึงระดับดังกล่าว หรือทำให้ได้ผิวหน้าของคอนกรีตไม่เรียบ อีกทั้งอาจเกิดการแยกตัวเนื่องจากหินในคอนกรีตกระทบกับเหล็กเสริมหรือข้างแบบแล้วกระเด็นไปในส่วนอื่นของแบบ เป็นต้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องกำหนดระยะตกอิสระของคอนกรีตเพื่อป้องกันการเสียหายดังกล่าว
การเทคอนกรีตในองค์อาคารที่มีความสูง เช่น เสาหรือกำแพง จะทำให้มีการเคลื่อนที่ของน้ำในคอนกรีตมาก ทั้งนี้เนื่องจากคอนกรีตด้านล่างจะต้องรับน้ำหนักของคอนกรีตที่อยู่ด้านบนมาก ทำให้น้ำเคลื่อนที่ขึ้นไปด้านบน น้ำที่เคลื่อนที่เหล่านี้จะทำให้เกิดการเยิ้ม (Bleeding) และมักจะสะสมตัวอยู่บริเวณด้านล่างของเหล็กเสริมและบริเวณด้านล่างของมวลรวม ทำให้แรงยึดหน่วงระหว่างคอนกรีตกับเหล็กเสริม และแรงยึดหน่วงระหว่างซีเมนต์เพสต์กับมวลรวมลดลง
การเทคอนกรีตในกำแพงควรเทคอนกรีตให้เคลื่อนตัวออกจากมุมดีกว่าที่จะเทเข้าไปหามุม
ในการเทคอนกรีตเป็นชั้นๆ ควรทำให้ส่วนบนของชั้นของคอนกรีตที่เทไปแล้วได้ระดับในแนวราบ หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงกับแนวราบ ก่อนการเทคอนกรีตทับชั้นบนต่อไป

3. การทำให้แน่น

ในขณะที่กำลังเทคอนกรีตอยู่นั้น จำเป็นต้องทำคอนกรีตให้แน่นโดยทั่วถึง โดยใช้อุปกรณ์ที่ใช้มือ ใช้เครื่องเขย่า หรือจะใช้เครื่องตบแต่ง ทั้งนี้เพื่อให้ได้คอนกรีตที่แน่น มีการยึดหน่วงกับเหล็กเสริมดีและได้ผิวเรียบ
รอบๆ เหล็กเสริม และสิ่งที่จะฝังติดในคอนกรีต และตามมุมของแบบหล่อควรจะทำคอนกรีตให้แน่นเป็นพิเศษ อาจจะใช้ฆ้อนเคาะภายนอกของแบบหล่อด้านข้างเพื่อช่วยกระจายคอนกรีตไปแทรกทุกๆ มุมของแบบหล่อ แต่ไม่ควรจะทำมากเกินไป เพราะจะทำให้คอนกรีตเกิดการแยกตัว โดยน้ำและส่วนที่ละเอียดทั้งหลายจะเคลื่อนตัวขึ้นข้างบน น้ำที่ขึ้นมานี้มักจะรวมตัวอยู่ใต้เหล็กเสริมและใต้มวลรวมขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้แรงยึดหน่วงน้อยลง และกลายสภาพเป็นร่องขึ้นจนน้ำสามารถไหลผ่านคอนกรีตได้

การกระทุ้งด้วยมือ
สำหรับคอนกรีตที่อยู่ในสภาพเทได้ ต้องใช้เครื่องมือกระทุ้งให้สุดความหนาของชั้นที่กำลังเท และควรกระทุ้งให้ถึงหรือเลยเข้าไปในชั้นคอนกรีตข้างใต้เป็นระยะประมาณ 10 ซม. การใช้เกรียงตบตรงหน้าแบบหรือใกล้ๆ กับแบบตั้ง จะช่วยลดความขรุขระที่ผิว และลดรูช่องว่างที่เกิดจากฟองอากาศด้วย
สำหรับการกระทุ้งคอนกรีตที่ค่อนข้างแห้งด้วยมือ จะใช้เครื่องมือที่มีผิวหน้าเรียบๆ และหนักตบตรงผิวจนกระทั่งมอร์ต้าร์หรือซีเมนต์เพสต์ปรากฎเป็นแผ่นบางๆ ขึ้นที่ผิว ซึ่งเป็นลักษณะที่แสดงว่าช่องว่างในมวลรวมนั้นถูกซีเมนต์เพสท์แทรกเต็มหมดแล้ว

ข้อแนะนำ
การกระทุ้งด้วยมือเหมาะสมกับงานคอนกรีตที่มีปริมาณการเทน้อยหรืองานคอนกรีตที่เหลวมาก เหล็กกระทุ้งอาจเป็นเหล็กเส้นกลมหรือเหล็กข้ออ้อย ซึ่งควรเลือกใช้ท่อนเหล็กที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอย่างน้อย 16 มม.

การเขย่าด้วยเครื่อง
โดยทั่วไปการเขย่าด้วยเครื่องมีผลดีคือ สามารถใช้กับกรณีที่ไม่สามารถทำให้แน่นด้วยการกระทุ้งด้วยมือ ฉะนั้น การเขย่าด้วยเครื่องจะช่วยทำให้คอนกรีตที่มีค่าการยุบตัวต่ำสามารถอัดตัวแน่นได้ในแบบหล่อที่ลึกและแคบ หรือบริเวณที่มีเหล็กเสริมหนาแน่นและมีระยะเรียงของเหล็กเสริมแคบมาก ในกรณีคอนกรีตที่มีส่วนผสมเหลวและมีค่าการยุบตัวสูงจำเป็นต้องกระทุ้งคอนกรีตให้แน่นด้วยมือ แต่ถ้ามวลรวมหยาบเกิดแยกตัวเนื่องจากการเทคอนกรีตผิดวิธี จะแก้ไขด้วยวิธีใช้การเขย่าด้วยเครื่องไม่ได้
เครื่องเขย่าคอนกรีตแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ เครื่องเขย่าภายในแบบหล่อ เครื่องเขย่าที่วางบนผิวคอนกรีต และเครื่องเขย่าชนิดที่ตรึงติดกับแบบหล่อ

ข้อแนะนำ
ไม่ว่าจะใช้เครื่องเขย่าคอนกรีตชนิดไหนก็ตาม ควรเว้นระยะห่างสั้นๆ ให้เพียงพอที่ส่วนของคอนกรีตที่ถูกเขย่าแล้วมีระยะเหลื่อมกันโดยไม่เว้นข้ามส่วนไหนเลย ควรให้การเขย่าดำเนินต่อไปจนกระทั่งคอนกรีตแน่นตัวทั่วกันดี และแทรกเต็มช่องว่างทั้งหมด โดยสามารถสังเกตจากผิวคอนกรีตซึ่งจะมีลักษณะเรียบ และมวลรวมต่างๆ จมในคอนกรีต การเขย่ามากเกินไปจะทำให้มวลรวมหยาบทรุดตัวลงไปข้างล่าง ปล่อยให้น้ำหรือซีเมนต์เพสต์ลอยขึ้นมาข้างบน ปกติการเขย่าควรจะให้ผลที่ต้องการภายใน 5-15 วินาที ที่จุดห่างกัน 45-75 ซม.
เครื่องเขย่าภายในแบบหล่อ โดยทั่วไปหมายถึงเครื่องเขย่าแบบหัวจุ่ม ควรจะแหย่ลงไปในแนวดิ่งจนสุดความลึกของชั้นที่จะเท ไม่ควรลากหัวจุ่มผ่านคอนกรีตนั้นในแนวราบ ควรใช้วิธีแหย่หัวจุ่มลงไปและถอนขึ้นมาอย่างช้าๆ โดยเดินเครื่องอยู่ตลอดเวลาขณะที่กำลังถอนหัวจุ่มออกจากมวลคอนกรีต เพื่อจะได้ไม่มีรูช่องว่างเหลือค้างอยู่ในคอนกรีต ไม่ควรใช้เครื่องเขย่าเพื่อทำให้คอนกรีตไหลจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เพราะจะทำให้เกิดการแยกตัวขึ้นโดยหินจะตกค้างอยู่ในบริเวณที่แหย่หัวจุ่มค่อนข้างนาน
เครื่องเขย่าชนิดวางบนผิวคอนกรีต จะใช้ทำให้ชั้นที่กำลังเทแน่นตัวจนตลอดความหนาของชั้น แต่ถ้าทำให้แน่นตลอดชั้นไม่ได้ควรลดความหนาของชั้นลงมา หรือใช้เครื่องเขย่าที่มีกำลังสูงกว่า
เครื่องเขย่าชนิดที่ตรึงติดแบบหล่อ จะใช้ได้ดีสำหรับการเขย่าคอนกรีตที่มีความหนาน้อย หรือที่ตำแหน่งซึ่งเครื่องเขย่าภายในเข้าไม่ถึงเท่านั้น
ควรระมัดระวังเรื่องการเลือก การติดตั้ง และการเคลื่อนย้ายเครื่องเขย่าบ่อยๆ เพื่อให้ได้ผลดีที่สุดต่อความหนาแน่นของคอนกรีต การเขย่าชั้นตื้นๆ ให้ทั่วจะช่วยลดจำนวนฟองอากาศในท่อคอนกรีตสำเร็จรูปได้อย่างมาก ตามปกติ การเขย่าคอนกรีตชั้นที่ลึกลงไป หรือการเขย่าเหล็กเสริม จะทำให้คอนกรีตที่เริ่มแข็งตัวไปแล้วบางส่วนเกิดความเสียหายเพียงเล็กน้อย แต่ทั้งนี้ต้องระวังอย่าให้เกิดความเสียหายถึงขนาดที่จะแก้ด้วยการเขย่าซ้ำไม่ได้ขึ้นเป็นอันขาด เนื่องจากการเขย่าคอนกรีตซ้ำจะเป็นประโยชน์ตราบเท่าที่คอนกรีตยังไม่เริ่มก่อตัว
ตราบใดที่เครื่องเขย่าชนิดที่ใช้แหย่ลงไปในคอนกรีตยังคงจมลงไปในคอนกรีตด้วยน้ำหนักตัวเองได้ การเขย่าคอนกรีตซ้ำจะมีประโยชน์มาก การเขย่าซ้ำทีหลังนี้จะช่วยขจัดการแตกร้าวทางแนวราบ และลดรอยร้าวเนื่องจากการหดตัวซึ่งเกิดจากการทรุดตัวของคอนกรีตที่ติดค้างอยู่บนเหล็กเสริมหรือค้างอยู่กับแบบหล่อที่ขรุขระได้

การขจัดรอยร้าวเนื่องจากการหดตัวแบบพลาสติกและการทรุดตัวของคอนกรีต
ถ้ามีรอยร้าวเนื่องจากการหดตัวแบบพลาสติกและรอยร้าวเนื่องจากการทรุดตัวของคอนกรีตเกิดขึ้น ควรทำให้คอนกรีตแน่นทันทีโดยการใช้เกรียงปาดหรือตบที่ผิวเพื่อขจัดรอยร้าวดังกล่าว

ข้อแนะนำ
ถ้าพื้นหรือคานคอนกรีตมีการต่อเชื่อมกับผนังหรือเสา เพื่อป้องกันการเกิดรอยร้าวเนื่องจากการทรุดตัว คอนกรีตของพื้นหรือคานควรจะเทหลังจากการทรุดตัวของคอนกรีตของผนังและเสาสิ้นสุดแล้ว นอกจากนี้ วิธีการดังกล่าวสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโครงสร้างที่มีส่วนยื่น
ในกรณีของโครงสร้างคอนกรีตที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ระดับการทรุดตัวของคอนกรีตขึ้นอยู่กับพื้นที่หน้าตัดของโครงสร้าง และเมื่อคอนกรีตถูกเทครั้งเดียวรอยร้าวมักจะเกิดขึ้นในตำแหน่งที่เป็นขอบเขตของพื้นที่หน้าตัดต่างๆ ดังนั้น การเทคอนกรีตควรจะหยุดชั่วคราวเมื่อมีพื้นที่หน้าตัดแตกต่างกัน การเทคอนกรีตในส่วนบนซึ่งรวมถึงส่วนยื่นด้วยควรจะกระทำหลังจากการทรุดตัวของคอนกรีตในส่วนล่างสิ้นสุดแล้ว ระยะเวลาที่เกิดการทรุดตัวของคอนกรีตขึ้นอยู่กับส่วนผสมคอนกรีต วัสดุที่ใช้ อุณหภูมิ เป็นต้น โดยปกติจะอยู่ในช่วง 1-2 ชั่วโมง

4. การตกแต่งผิวหน้าคอนกรีต

เพื่อที่จะให้ได้ผิวหน้าของคอนกรีตที่สวยงามและเป็นเนื้อเดียวกัน ควรเทคอนกรีตให้ต่อเนื่องกันด้วยคอนกรีตที่มีส่วนผสมเหมือนกัน ใช้วัสดุผสมคอนกรีตประเภทเดียวกันและใช้วิธีการเทคอนกรีตแบบเดียวกัน

ข้อแนะนำ
การเทคอนกรีตโดยไม่ต่อเนื่องจะทำให้เกิดรอยต่อ ในกรณีที่จำเป็นต้องมีรอยต่อควรมีการวางแผนเพื่อให้รอยต่อนั้นเป็นเส้นตรงเพื่อความสวยงาม

การตกแต่งผิวหน้าคอนกรีตที่ไม่ได้มีการใช้แบบหล่อ
โดยปกติผิวหน้าคอนกรีตที่ไม่ได้มีการใช้แบบหล่อจะหมายถึงผิวหน้าของคอนกรีตในแนวราบ
1) หลังจากทำให้คอนกรีตแน่นและปาดผิวหน้าคอนกรีต เพื่อให้ได้ระดับและรูปร่างที่ต้องการแล้ว ควรรอให้น้ำที่เยิ้มออกจากคอนกรีตระเหยหรือถูกกำจัดหมดก่อนที่จะตกแต่งผิวหน้าคอนกรีต แต่ไม่ควรตกแต่งผิวมากหรือนานเกินไป
2) รอยแตกที่เกิดบนผิวที่ตกแต่งไปแล้ว สามารถจะกำจัดได้โดยการทำให้แน่นหรือตกแต่งอีกครั้งก่อนคอนกรีตเริ่มก่อตัว
3) ในกรณีที่ต้องการผิวหน้าคอนกรีตที่เรียบและแน่น สามารถทำได้โดยกดเกรียงลงบนผิวหน้าคอนกรีตที่ต้องการตกแต่งให้ทั่ว
4) ควรหลีกเลี่ยงงานตกแต่งผิวหน้าคอนกรีตในขณะที่ฝนตก

ข้อแนะนำ
(1) ถ้าไม่กำจัดน้ำที่เยิ้มขึ้นมาบนผิวหน้าของคอนกรีตก่อนการตกแต่งผิว จะทำให้เกิดรอยแตกเล็กๆ จำนวนมากบนผิวหน้าคอนกรีตหลังจากที่ตกแต่งผิวหน้าคอนกรีตเสร็จแล้ว การที่ตกแต่งผิวมากหรือนานเกินไป จะทำให้ซีเมนต์เพสต์ขึ้นมาอยู่บนผิวหน้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะนำไปสู่การแตกร้าวบนผิวหน้าได้
(2) สาเหตุของรอยแตกก่อนการก่อตัวของคอนกรีต อาจเกิดจากการหดตัวแบบพลาสติก (Plastic Shrinkage) หรือ การทรุดตัว (Settlement) ซึ่งในกรณีหลังจะทำให้เกิดรอยแตกบนผิวคอนกรีตตามแนวเหล็กเสริมได้
(3) การกดเกรียงลงบนผิวหน้าคอนกรีตให้ทั่วเพื่อให้ได้ผิวหน้าคอนกรีตที่แน่นสามารถทำได้โดยรอให้ผิวหน้าคอนกรีตเริ่มมีความแข็งพอประมาณ การทดสอบอาจทำได้โดยใช้นิ้วมือกดดู ช่วงเวลาที่เหมาะสมจะเป็นช่วงที่เมื่อใช้นิ้วมือกดดูแล้วเริ่มไม่ปรากฎรอยนิ้วมือให้เห็นบนผิวหน้าของคอนกรีต
(4) ถ้าฝนตกลงบนคอนกรีตที่เทเสร็จใหม่ๆ น้ำจะชะผิวคอนกรีตสดละทำให้มอร์ต้าร์ที่ผิวหรือใกล้ๆ ผิวน้อยลงได้ ดังนั้น ควรหยุดงานตกแต่งผิวคอนกรีตจนกว่าฝนจะหยุดตก หรือถ้าจะตกแต่งผิวขณะฝนตกควรมีหลังคาป้องกันฝนที่ได้ผลเต็มที่

การตกแต่งผิวหน้าคอนกรีตที่มีการใช้แบบหล่อ
1) โครงสร้างหรือองค์อาคารที่เป็นคอนกรีตเปลือย จะต้องมีการควบคุมการคอนกรีตและการทำให้คอนกรีตแน่น เพื่อให้ได้ผิวหน้าที่มีมอร์ต้าร์ปกคลุมจนทั่ว
2) รอยสันหรือนูนบนผิวคอนกรีตควรได้รับการกำจัดเพื่อให้ได้ผิวหน้าคอนกรีตที่เรียบ ส่วนรูพรุนหรือรอยแตกควรทำการซ่อมแซมด้วยมอร์ต้าร์หรือคอนกรีตที่มีส่วนผสมที่เหมาะสม โดยการสกัดคอนกรีตส่วนที่ไม่แข็งแรงออก พรมน้ำให้เปียกแล้วจึงซ่อมด้วยมอร์ต้าร์หรือคอนกรีตที่เตรียมไว้
3) ในกรณีที่เกิดรอยแตกร้าวอย่างรุนแรงเนื่องจากการหดตัว หรือจากความแตกต่างของอุณหภูมิ ต้องทำการซ่อมแซมโดยวิธีที่เหมาะสม

ข้อแนะนำ
(1) โดยปกติหลังจากแกะแบบหล่อแล้ว ผิวหน้าของคอนกรีตที่ดีควรจะเป็นผิวหน้าที่เคลือบคลุมไปด้วยมอร์ต้าร์ โดยไม่เห็นเม็ดหินหรือทรายอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ยกเว้นในกรณีพิเศษที่ผิวหน้าถูกออกแบบให้เห็นเม็ดทรายหรือหิน
(2) การตกแต่งผิวเป็นพิเศษบางอย่าง เช่น การใช้แปรง การขัด การถู หรือการฉาบด้วยพลาสเตอร์ อาจทำได้เมื่อถอดแบบแล้ว และคอนกรีตมีกำลังบ้างพอสมควร แต่สำหรับการทำหินขัด การสกัดโดยใช้ฆ้อนหรือใช้ทรายพ่นผิว จะทำได้ก็ต่อเมื่อคอนกรีตแข็งตัวโดยตลอดเสียก่อน การอุดรูพรุนและฟองอากาศอาจทำได้โดยที่ทำให้ผิวคอนกรีตเปียกโดยทั่วกันก่อนแล้วให้ใช้ส่วนผสมปูนซีเมนต์ 1 ส่วนต่อทรายละเอียด 2.5 ส่วน ถูให้ทั่วๆ ด้วยอุปกรณ์แต่งผิว
(3) รอยแตกบางชนิดมีผลเสียต่อการรับแรงขององค์อาคาร ดังนั้น การซ่อมรอยแตกต่างๆ ต้องคำนึงถึงความจำเป็นและวิธีการที่เหมาะสมด้วย การซ่อมบริเวณที่ชำรุดควรกระทำโดยที่ไม่ขัดขวางการบ่มคอนกรีต

การตกแต่งผิวหน้าของคอนกรีตที่รับแรงขัดสี
ถ้าต้องการให้คอนกรีตมีความต้านทานแรงขัดสีสูง ควรใช้คอนกรีตที่มีอัตราส่วนน้ำต่อปูนซีเมนต์ต่ำและต้องทำให้แน่นเป็นอย่างดี อีกทั้งต้องบ่มให้เพียงพอด้วย

ข้อแนะนำ
โดยปกติผิวคอนกรีตประเภทนี้ หมายถึง ผิวถนน ผิวเขื่อน ทางน้ำล้น ท่อน้ำ เป็นต้น การเพิ่มความต้านทานต่อการขัดสีของคอนกรีต ทำได้โดยใช้คอนกรีตที่มีอัตราส่วนน้ำต่อปูนซีเมนต์ต่ำ ใช้มวลรวมที่มีความแข็งแรงสูง เทและทำให้แน่นอย่างดี และบ่มให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ การเพิ่มความต้านทานการขัดสี อาจทำได้โดยการใช้คอนกรีตพิเศษชนิดต่างๆ เช่น โพลิเมอร์คอนกรีต หรือคอนกรีตเสริมใยเหล็ก เป็นต้น

5. การบ่มคอนกรีต

คอนกรีตจำเป็นต้องได้รับการบ่มทันทีหลังจากเสร็จสิ้นการเท และควรบ่มต่อไปจนกระทั่งคอนกรีตมีกำลังอัดตามต้องการ หลักการทั่วไปของการบ่มที่ดีจะต้องสามารถป้องกันคอนกรีตไม่ให้เกิดการสูญเสียความชื้นไม่ว่าจะด้วยความร้อนหรือลม ไม่ให้คอนกรีตร้อนหรือเย็นมากเกินไป ไม่ให้สัมผัสกับสารเคมีที่จะเป็นอันตรายต่อคอนกรีตและไม่ถูกชะล้างโดยน้ำฝนหลังจากเทคอนกรีตเสร็จใหม่ๆ เป็นต้น

การบ่มเปียก
ในกรณีทั่วไปคอนกรีตต้องได้รับการป้องกันจากการสูญเสียความชื้นจากแสงแดดและลมหลังจากเสร็จสิ้นการเทจนกระทั่งคอนกรีตเริ่มแข็งแรง และหลังจากคอนกรีตเริ่มแข็งแรงแล้ว ผิวหน้าของคอนกรีตที่สัมผัสกับบรรยากาศยังต้องคงความเปียกชื้นอยู่ ซึ่งอาจทำได้โดยการปกคลุมด้วยกระสอบเปียกน้ำ ผ้าเปียกน้ำ หรือฉีดน้ำให้ชุ่ม เป็นต้น
- คอนกรีตที่ใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทที่ 1 ควรบ่มเปียกติดต่อกันอย่างน้อย 7 วัน
- คอนกรีตที่ใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทที่ 3 ควรบ่มอย่างน้อย 3 วัน
- ในกรณีคอนกรีตที่มีวัสดุปอซโซลานผสม ควรบ่มมากกว่า 7 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของวัสดุปอซโซลานที่ใช้

ข้อแนะนำ
คอนกรีตที่ไม่ได้รับการบ่มอย่างถูกต้องจะไม่มีการพัฒนากำลังเท่าที่ควรเนื่องจากปฏิกิริยาไฮเดรชั่นต้องการน้ำ นอกจากนั้น การสูญเสียความชื้นจากผิวหน้าของคอนกรีตที่ไม่ได้รับการบ่มจะทำให้เกิดการแตกร้าวด้วย กรณีใช้กระสอบหรือผ้าในการบ่มคอนกรีต กระสอบหรือผ้าที่ใช้ควรเป็นวัสดุที่มีความหนาพอสมควรเพื่อไม่ให้แห้งเร็วเกินไป และต้องรดน้ำให้เปียกชุ่มอยู่ตลอดเวลาการบ่มด้วย โดยปกติ ควรบ่มคอนกรีตที่ใช้วัสดุปอซโซลานผสมแทนที่ปูนซีเมนต์บางส่วนให้นานกว่าคอนกรีตธรรมดา เนื่องจากปฏิกิริยาปอซโซลานเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นหลังปฏิกิริยาไฮเดรชั่น แต่ถ้าใช้วัสดุปอซโซลานปริมาณน้อย เช่น ไม่เกินร้อยละ 10-15 ของปริมาณวัสดุประสานทั้งหมด ก็อาจบ่มเช่นเดียวกับคอนกรีตธรรมดาก็ได้

สารเคมีสำหรับการบ่ม
โดยปกติสารเคมีสำหรับการบ่มจะใช้ต่อเมื่อไม่สามารถบ่มคอนกรีตแบบเปียกได้ สารเคมีสำหรับการบ่มนั้นจะใช้ฉีดพ่นลงบนผิวหน้าของคอนกรีตที่ต้องการบ่ม โดยควรฉีดพ่นซ้ำมากกว่า 1 เที่ยว เพื่อให้แผ่นฟิล์มเคลือบผิวหน้าคอนกรีตมีความหนาเพียงพอ และควรฉีดพ่นทันทีที่ผิวหน้าคอนกรีตเริ่มแห้งก็ให้ฉีดน้ำบนผิวคอนกรีตให้เปียกชุ่มไว้ก่อน

ข้อแนะนำ
การใช้สารเคมีสำหรับการบ่ม ไม่ควรจะฉีดพ่นสารเคมีเหล่านั้นลงบนเหล็กเสริม หรือรอยต่อของการก่อสร้าง เป็นต้น เนื่องจากบริเวณดังกล่าวต้องการการยึดเกาะที่ดีกับคอนกรีตที่จะเทต่อไปภายหลัง

ข้อควรระวังสำหรับการบ่ม
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้คอนกรีตได้รับความเสียหายในขณะที่บ่มอยู่มีดังต่อไปนี้ การสั่นสะเทือน การกระแทก การรับน้ำหนักมากเกินไป การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างมากในเวลาสั้นๆ เป็นต้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุต้นๆ ของคอนกรีต


6. การถอดแบบหล่อและค้ำยัน

1) จะถอดแบบหล่อและค้ำยันออกได้ก็ต่อเมื่อคอนกรีตมีกำลังอัดเพียงพอที่จะสามารถรับน้ำหนักของคอนกรีตและน้ำหนักอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการก่อสร้างต่อไป
2) ขั้นตอนและระยะเวลาในการถอดแบบและค้ำยัน ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของปูนซีเมนต์ ส่วนผสมของคอนกรีต ความสำคัญของโครงสร้าง ชนิดและขนาดของโครงสร้าง น้ำหนักที่กระทำต่อโครงสร้าง อุณหภูมิ และอื่น ๆ
3) กรณีโครงสร้างทั่วไปซึ่งมิได้มีข้อกำหนดระบุไว้ สามารถถอดแบบหล่อและค้ำยัน โดยมีค่ากำลังอัดของคอนกรีตขั้นต่ำดังแสดงในตารางที่ 1



4) กรณีโครงสร้างทั่วไปซึ่งมิได้มีข้อระบุไว้ และไม่มีผลทดสอบกำลังอัดของคอนกรีต ให้ใช้ระยะเวลาถอดแบบและค้ำยันเร็วที่สุดดังตารางที่ 2




ข้อแนะนำ
(1) ขั้นตอนและลำดับการถอดแบบหล่อและค้ำยัน ควรคำนึงว่าโครงสร้างซึ่งมีค้ำยันค้างอยู่บางส่วนจะสามารถรับแรงหรือโมเมนต์ที่จะเกิดขึ้นได้โดยไม่แตกร้าว
(2) การกองวัสดุบนโครงสร้างคอนกรีต หลังจากการถอดค้ำยันแล้ว ต้องตรวจสอบว่าไม่เป็นอันตรายต่อโครงสร้าง เนื่องจากโครงสร้างขณะนั้นอาจจะยังไม่สามารถรับน้ำหนักบบรรทุกได้ตามที่ออกแบบไว้ นอกจากนี้ อาจจะต้องเคลื่อนย้ายวัสดุที่กองไว้บนโครงสร้างตั้งแต่ก่อนการถอดค้ำยันออกไป หากตรวจพบว่าอาจเกิดอันตรายต่อโครงสร้างเมื่อถอดค้ำยันออก

การค้ำยันกลับ ( Reshoring )
การค้ำยันกลับ หมายถึงการถอดไม้แบบและค้ำยันของโครงสร้างคอนกรีตออกแล้วดำเนินการใส่ค้ำยันกลับคืนอีกครั้งหนึ่ง
1) การค้ำยันกลับเพื่อรองรับน้ำหนักโครงสร้าง ต้องมีการวางแผนไว้ก่อนและได้รับการอนุมัติจากวิศวกรแล้วเท่านั้น
2) โครงสร้างซึ่งกำลังอยู่ในระยะเวลารอการค้ำยันกลับ ห้ามมิให้รับน้ำหนักบรรทุกจร เว้นแต่ตรวจสอบแล้วว่า ไม่เกินความสามารถรับน้ำหนักของโครงสร้างคอนกรีตขณะนั้น
3) ในขั้นตอนการค้ำยันกลับ โครงสร้างต้องไม่รับน้ำหนักบรรทุกเกินกว่าที่วิศวกรกำหนดให้ อนึ่งการค้ำยันกลับจะต้องดำเนินการโดยเร็วที่สุดภายหลังจากการถอดแบบหล่อและค้ำยันแล้ว
4) ค้ำยันที่ใช้ต้องขันให้แน่น เพื่อให้รับน้ำหนักโครงสร้างตามที่กำหนดไว้ ค้ำยันนี้ต้องคงค้างไว้จนกระทั่งผลทดสอบกำลังอัดคอนกรีตถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้

ข้อแนะนำ
(1) การค้ำยันกลับมีวัตถุประสงค์เพื่อให้โครงสร้างคอนกรีตที่เพิ่งถอดแบบสามารถรับน้ำหนักบรรทุก และ/หรือ ถ่ายน้ำหนักบรรทุกที่จะมีเพิ่มขึ้นให้ลงสู่โครงสร้างส่วนล่าง
(2) การค้ำยันกลับอาจเกิดขึ้นได้หลายกรณี อาทิเช่น
- การถอดไม้แบบเพื่อนำไปหมุนเวียนใช้งานในส่วนอื่น แล้วนำค้ำยันมาค้ำกลับแทนเพื่อรับน้ำหนักบรรทุกที่จะเพิ่มขึ้นภายหลัง
- กรณีที่น้ำหนักบรรทุกที่จะเพิ่มขึ้นของโครงสร้างคอนกรีตมากกว่าเกินไม้แบบเดิมจะรับได้ อาจถอดไม้แบบออกเพื่อนำค้ำยันซึ่งแข็งแรงกว่ามาค้ำกลับ


ที่มา : "ข้อกำหนดมาตรฐานวัสดุและการก่อสร้างสำหรับโครงสร้างคอนกรีต", คณะอนุกรรมการคอนกรีตและวัสดุ คณะกรรมการวิชาการสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, มาตรฐาน ว.ส.ท. E.I.T Standard 1014-40