เคล็ดลับเลือกซื้อที่ดิน ปลูกบ้านหลังใหม่ให้ถูกใจ
คนเราคงมีโอกาสซื้อหรือปลูกสร้างบ้านได้ไม่เกิน 1-2 หลัง เพราะว่าบ้านคือหนึ่งในปัจจัยสี่ที่เราต้องอยู่อาศัยไปตลอดชีวิต ยิ่งในยุคเศรษฐกิจชะลอตัว น้ำมันแพง การจะปลูกสร้างบ้านสักหลังจึงต้องคิดให้รอบคอบ
คอลัมน์ "เรื่องน่ารู้ ของคนอยากมีบ้าน" ในหนังสือรับสร้างบ้าน 2005 ของสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ได้แนะนำเคล็ดลับการปลูกสร้างบ้านไว้อย่างน่าสนใจ โดยในช่วงแรกจะขอนำเสนอถึงวิธีในการเลือกซื้อที่ดิน รวมถึงการพิจารณาระบบสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อมใกล้เคียง
เพราะปัจจุบันแม้ว่าจะมีโครงการหมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้นมากมาย แต่ความต้องการก็ใช่ว่าจะเหมือนกันไปทุกคน บางคนไม่ชอบแบบบ้าน บางคนไม่ชอบทำเล หรือเบื่อกับการที่ต้องอยู่บ้านที่หน้าตาเหมือนกันหมด นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งเลือก "ปลูกบ้านเอง"
ที่ดิน
ที่ดินสำหรับการปลูกสร้างบ้านอาจมี 2 ลักษณะ คือที่ดินที่มีอยู่เดิมจากมรดกตกทอด และที่ดินที่ซื้อเก็บไว้หรือกำลังจะหาซื้อมาไว้ในครอบครอง ที่ดินเป็นมรดกตกทอดคงไม่สามารถเลือกได้ว่าต้องการที่ดินรูปร่างแบบไหน มีน้ำ มีสาธารณูปโภคเข้าถึงหรือไม่ แต่ถ้าเป็นที่ดินที่ซื้อไว้สำหรับสร้างบ้านนั้น ก็ควรจะมีความรู้เบื้องต้น
1.ทำเลที่ตั้ง
พฤติกรรมและความเคยชินเป็นสิ่งที่กำหนดทำเลที่อยู่อาศัยของคน ผู้ที่เคยอยู่อาศัยในย่านใด ก็มักจะไม่ย้ายไปอยู่อาศัยในย่านอื่นๆ ที่ตนเองไม่คุ้นเคย ทำให้การเลือกทำเลเพื่อจะสร้างบ้านของแต่ละคนขึ้นอยู่กับความเคยชินเป็นหลัก
2.ขนาดและรูปร่างที่ดิน ระดับของที่ดิน
สิ่งต่อมาที่ต้องพิจารณาคือ ตัวที่ดิน ได้แก่ ลักษณะกายภาพของที่ดิน ขนาด รูปร่าง ระดับของที่ดิน สิ่งเหล่านี้สำคัญมาก เช่น ที่ดินมีลักษณะเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว (หน้าแคบ แต่ลึก) เพราะที่ดินหน้าแคบจะมีปัญหาในเรื่องเทศบัญญัติเกี่ยวกับระยะร่นด้านข้าง (set back) จะทำให้บ้านแคบมากกว่าเดิม ที่ดินหน้ากว้าง 12 เมตรขึ้นไป น่าจะเหมาะสมกับการซื้อไว้สำหรับสร้างบ้านที่สุด
ระดับที่ดินก็ควรเป็นที่สูง อย่างน้อยควรสูงกว่าระดับถนนในละแวกนั้น เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในหน้าฝน ถ้าเกิดที่ดินมีระดับต่ำก็ควรจะถมดินเพิ่ม แต่ต้องตรวจสอบสภาพความพร้อมของที่ดินที่จะถม และเมื่อถมแล้วก็สามารถก่อสร้างได้เลยไม่จำเป็นต้องรอให้ดินทรุดตัว เพราะความจริงแล้วเราสร้างบ้านอยู่บนเสาเข็มที่ตอกลงไปในชั้นหินหรือชั้นดินแข็งที่ลึกลงไป 16-21 เมตร ไม่ได้สร้างบนดินที่ถมเอาไว้
3.การเข้าถึง
ในการพิจารณาเลือกซื้อที่ดิน สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ การเข้าออกที่สะดวกและมีขนาดใหญ่พอที่จะให้รถขนวัสดุก่อสร้างเข้าไปได้ จะช่วยประหยัดค่าขนส่งได้ นอกจากนั้นควรตรวจสอบว่าทางเข้า-ออกนั้นเป็นที่สาธารณะจริงหรือไม่ เพื่อป้องกันปัญหาการถูกหลอกซื้อที่ตาบอด
4.สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ
ในการเลือกซื้อที่ดินสำหรับปลูกบ้านนั้น ที่ดินที่คุณเลือกซื้อควรจะมีระบบสาธารณูปโภคครบถ้วน ทั้งไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ สามารถตรวจสอบได้โดยสอบถามจากเพื่อนบ้าน หรือการไฟฟ้าและการประปาในเขตพื้นที่ และควรเลือกบริเวณที่มีท่อน้ำประปาและสายไฟฟ้าผ่านใกล้ที่ดินมากที่สุดเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการขอต่อไฟฟ้าและน้ำประปา
5.สภาพแวดล้อม
สภาพแวดล้อมที่อยู่รอบบ้านเป็นสิ่งที่จะต้องอยู่ด้วยไปนานเท่ากับบ้าน จึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงสภาพสิ่งแวดล้อมรวมทั้งองค์ประกอบรอบที่ดินผืนนั้น เช่น ถ้าที่ดินของคุณไม่มีเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน ก็ควรระวังเรื่องขโมย หรือถ้าข้างที่ดินมีบ้านสร้างอยู่แล้วก็ควรระวังเรื่องระดับที่ดินของเพื่อนบ้านที่อยู่สูงกว่า เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมได้
อีกเรื่องที่สำคัญคือ ถ้าบริเวณโดยรอบที่ดินมีการสร้างบ้านอยู่แล้ว ต้องใช้เข็มเจาะ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายแพงกว่าเข็มตอก 50-60% แต่จะปลอดภัยสำหรับปัญหาบ้านข้างเคียงร้าวเนื่องจากการตอกเสาเข็ม เรื่องปากท้องก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน ควรดูว่าบริเวณนั้นมีตลาดสด ร้านค้า หรือห้างสรรพสินค้าหรือไม่ รวมทั้งโรงพยาบาลหรือคลินิก
ข้อมูลจาก hometophit.com