ระบบสุขาภิบาลในบ้าน

1. ระบบสุขาภิบาล คืออะไร

ระบบสุขาภิบาลในบ้าน ประกอบไปด้วย ระบบประปา, ระบบท่อระบายน้ำทิ้ง, ระบบท่อระบายอากาศ, ระบบระบายน้ำฝน และระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น จะเห็นได้ว่าถ้าเปรียบบ้านเป็นคน รูปร่าง ความสวยงามเป็นงานในส่วนสถาปัตยกรรม ระบบสุขาภิบาลก็จะเป็นอวัยวะภายในที่ทำหน้าที่ในร่างกายของเรา ทั้งสูบฉีดเลือดหล่อเลี้ยงร่างกาย และขับถ่ายระบายของเสียออกจากร่างกาย หากระบบมีปัญหาเชื่อได้ว่าเจ้าของบ้านคงอยู่ไม่เป็นสุข ดังนั้นการออกแบบที่ดี การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่เหมาะสม การติดตั้งที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

2. จากประสบการณ์ที่พบ มีปัญหาใดบ้างที่เจอบ่อยๆ และมีแนวทางการแก้ไขอย่างไร

ปัญหาที่เจอก็จะซ้ำๆ กัน เช่น
- ท่อรั่ว, ท่อแตกใต้ดิน, ใต้อาคาร, ในกำแพง
- ห้องน้ำชั้นล่างอืดชักโครกไม่ลง
- เครื่องสูบน้ำ สูบน้ำไม่ขึ้น, หรือทำงานไม่หยุด หรือเดิน-หยุด, เดิน-หยุดตลอด
- ห้องน้ำมีกลิ่นเหม็นตลอดเวลา
- ฯลฯ

ส่วนการแก้ไขก็จะค่อยๆ เล่าให้ฟังไป

3. การออกแบบและการเลือกวัสดุ

ระบบประปา จะให้แนวคิดง่ายๆ เป็นข้อๆ ดังนี้

▲ ไม่ควรเดินท่อประปาฝังดินให้เดินลอยเลาะรั้วบ้าน, หลีกเลี่ยง (ห้าม) เดินท่อประปาใต้บ้านหากมีความจำเป็นต้องเดินลอดถนนให้ฝังปลอกท่อเหล็กใต้ถนน หรือต้องฝังดินเข้าตัวบ้านก็ให้ใส่ประตูไว้ทุกจุด เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบและซ่อมแซมภายหลัง

▲ หากมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องสูบน้ำ เพื่อให้มีแรงดันมากขึ้น ต้องออกแบบให้มีถังเก็บน้ำและให้เดินท่อจากการประปามาจ่ายน้ำให้ถังเก็บน้ำ และให้สูบน้ำจากถังเก็บน้ำนี้เท่านั้น ห้ามสูบน้ำจากท่อที่ต่อกับท่อของการประปาโดยตรง ซึ่งผิดทั้งหลักวิชาการ และยังผิดกฎหมายด้วยซ้ำ

▲ ถังเก็บน้ำก็จะต้องมีขนาดเหมาะสมกับขนาดของบ้าน, จำนวนคนที่อาศัยอยู่ ตลอดจนความแน่นอนของการจ่ายน้ำประปาให้กับบ้านเรา โดยปกติก็จะให้มีขนาดที่จุน้ำไว้ใช้ได้ 1-2 วัน โดยที่ไม่มีน้ำจากการประปาเติมเลย มีข้อแนะนำที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ไม่แนะนำให้เอาถังเก็บน้ำฝังดิน เพราะยากต่อการดูแลรักษา ทั้งเรื่องความสะอาดและการรั่วซึม รวมทั้งเครื่องสูบน้ำอาจจะสูบน้ำไม่ขึ้นได้ง่ายด้วย

▲ ท่อประปาในบ้านผมแนะนำให้เลือกใช้ท่อพีวีซีชั้น 13.5 เหตุผลง่ายๆ ก็คือ ราคาถูก ต่อง่าย ไม่เป็นสนิมอายุยืน แต่มีข้อควรระวังเอาใจใส่ในการติดตั้งดังนี้

1. การตัดต้องใช้เครื่องมือให้เหมาะสมให้แน่ใจว่าตัดได้ฉาก และควรลบเหลี่ยมที่ปลายท่อ (Taper) การทากาวให้ทาที่ท่อในปริมาณที่เหมาะสม ทาให้ตลอดความยาวของท่อที่จะดันเข้าไปในข้อต่อ ถ้าทาสั้นกว่าก็จะดันเข้าไปในข้อต่อได้เท่ากับส่วนที่ทากาวไว้ ปลายท่อที่ทากาวต้องสะอาด

2. ข้อต่อเกลียวที่ต่อกับวาล์ว หรืออุปกรณ์ของสุขภัณฑ์ที่เป็นโลหะไม่ควรใช้เกลียวพลาสติก เพราะเมื่อหมุนคลายออกเมื่อไร เกลียวพลาสติกจะเสียทำให้น้ำรั่วได้ ถ้าอยู่ในกำแพงก็จะเป็นเรื่องใหญ่ ให้ใช้เกลียวที่เป็นโลหะแทน

3. การยึดท่อที่เดินไว้ให้มั่นคง เท่าที่ดูงานบ้านทั่วไปจะละเลยข้อนี้มาก อาจจะทำให้ท่อขยับตัว, สั่นกระแทกกับโครงสร้างทำให้รั่วซึมภายหลังได้

4. สำหรับท่อที่จะต่อกับเครื่องทำน้ำร้อน ควรใช้ท่อทองแดง เพราะท่อพีวีซี ไม่สามารถใช้กับน้ำร้อนได้

▲ การเลือกเครื่องทำน้ำร้อน เครื่องทำน้ำร้อนขนาดเล็กส่วนใหญ่ที่ใช้ตามบ้านจะเป็นแบบที่ไม่มีหม้อพัก คือจะอาบน้ำร้อนก็เปิดน้ำให้น้ำไหลผ่านเครื่องทำน้ำร้อน ซึ่งมีคอยล์ทำความร้อนด้วยไฟฟ้าอยู่ ทำให้น้ำร้อนขึ้นทันที แล้วจ่ายน้ำร้อนออกมา เครื่องทำความร้อนแบบนี้ จะแบ่งได้เป็น 2 ชนิดหลักๆ ขึ้นอยู่กับกำลังไฟฟ้าที่ใช้ คือ

1. เครื่องทำน้ำอุ่นจะใช้กำลังไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 3 กิโลวัตต์ ส่วนใหญ่จะมีฝักบัวแถมมาให้เลย ไม่ต้องมีก๊อกผสม มีสวิทซ์ปิด-เปิดเครื่องในตัว จะอาบน้ำอุ่นก็เปิดสวิทซ์ หากอยากจะอาบน้ำเย็นก็ปิดสวิทซ์ มีตัวปรับกำลังไฟให้น้ำอุ่นน้อยมากตามชอบใจ ติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นบริเวณที่อาบน้ำเลย

2. เครื่องทำน้ำร้อนจะใช้กำลังไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 6 กิโลวัตต์ขึ้นไป ซึ่งทำให้น้ำจะร้อนเกินไป จำเป็นต้องมีน้ำเย็นมาผสมน้อย-มากตามความชอบ ตำแหน่งที่ติดตั้งสามารถซ่อนไว้ใต้เคาน์เตอร์อ่างล้างหน้า หรือบนฝ้า (ต้องเปิดซ่อมได้) หรือติดที่ผนังห้องน้ำเลยก็ได้ แต่ต้องใกล้กับจุดใช้งานให้มากที่สุด สำหรับห้องน้ำที่มีอ่างอาบน้ำและเจ้าของมีรสนิยมชอบนอนแช่น้ำร้อนจัดขนาด 6 กิโลวัตต์อาจจะเล็กไป ต้องใช้แบบ 8 กิโลวัตต์ขึ้นไปแทน ทั้งนี้ต้องระวังและเตรียมขนาดสายไฟฟ้าที่จะมาจ่ายให้กับเครื่องทำน้ำร้อนนี้ให้มีขนาดเหมาะสมด้วย

ทั้งสองประเภทควรเลือกชนิดที่มีเครื่องมือตัดไฟรั่วในตัวอยู่ด้วย (Earth Leakage) เลือกยี่ห้อที่มีชื่อเสียง หรือมี

มาตรฐานรับรอง เพราะเป็นห่วงเรื่องไฟรั่วมาก ของใหม่ๆ ก็ไม่เท่าไร นานๆ ไปอาจสร้างปัญหาให้เราได้ ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็ การต่อสายไฟเข้ากับเครื่องทำน้ำร้อน ต้องมั่นใจว่าน้ำจะไม่เข้าไปถูกขั้วที่ต่อไฟฟ้า

เรื่องการระบายน้ำทิ้ง

▲ การออกแบบระบบท่อน้ำทิ้งนั้นใช้หลักการว่า น้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ คำนวณขนาดท่อและความลาดเอียงให้เหมาะสม เพื่อให้น้ำไหลในท่อได้เร็วพอที่จะพาขยะ สิ่งโสโครกที่เราขับถ่ายปกติไปสู่บ่อน้ำเสียได้โดยสะดวก ดังนั้นการเดินท่อแนวนอนต้องมีความลาดเอียงลงอย่างน้อย 1:100 (1 เมตร/1 ซม.) จากห้องน้ำไปยังบ่อบำบัดน้ำเสีย จากบ่อบำบัดน้ำเสียไปท่อระบายน้ำฝนรอบบ้าน และจากท่อระบายน้ำฝนไปยังแหล่งปล่อยน้ำทิ้งตลอดแนวท่อระบายน้ำ วิศวกรผู้ออกแบบจะต้องสำรวจและไล่ระดับจากต้นจนปลายให้ได้ หากมีความจำเป็นก็อาจจะต้องยกตัวบ้านให้สูงขึ้น หรือทำบ่อพักและสูบน้ำทิ้งออกไปสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ อุปกรณ์ข้อต่อที่ใช้ต้องเป็นแบบที่ใช้สำหรับการระบายน้ำทิ้งเท่านั้น ห้ามใช้ข้อต่อประปาซึ่งจะมีความโค้งน้อย

▲ สำหรับเรื่องกลิ่นนั้น อุปกรณ์ทุกชนิดที่ต่อกับท่อระบายน้ำทิ้งจะต้องมีที่ดักกลิ่น (คอห่าน) ที่ได้มาตรฐานทุกตัว ตัวไหนไม่มี หรือที่ดักกลิ่นไม่ดีกลิ่นที่ไม่ปรารถนาก็จะมาเยือนได้เสมอ ที่ดักกลิ่นหรือ P-Trap ออกแบบให้มีน้ำขังกันอยู่ระหว่างท่อกับตัวสุขภัณฑ์ กันไม่ไห้กลิ่นผ่านน้ำมาได้ ที่ดักกลิ่นที่ดีต้องมีคุณสมบัติหลักคือ สามารถขังน้ำได้สูงพอประมาณและสามารถถอดล้างเอาขยะออกได้สะดวก สุขภัณฑ์ที่ขายโดยส่วนใหญ่จะมีที่ดักกลิ่นในตัว เช่น โถส้วม หรือจะให้มาพร้อมกับสุขภัณฑ์ เช่น อ่างล้างหน้า, อ่างอาบน้ำ หากไม่มีหรือไม่ให้มา ก็ต้องซื้อเพิ่ม เช่น อ่างล้านจาน (Sink) สำหรับช่องระบายน้ำที่พื้น (Floor Drain) นั้น เป็นปัญหาหลักที่ทำให้เกิดกลิ่น ควรติดตั้ง P-Trap ใต้ช่องระบายน้ำทุกตัว เนื่องจากสินค้าที่ขายทั่วไปที่มีดักกลิ่นที่ตื้นเกินไป ทำให้น้ำที่ขังอยู่แห้งได้ง่าย ขอย้ำอีกครั้ง สุขภัณฑ์ทุกตัวต้องมีที่ดักกลิ่น (P-Trap)


ที่มา:นายโสภณ เหล่าสุวรรณ (สภาวิศวกร)