บ้าน(ใหม่) แบบไหน ปลอดภัยจากน้ำท่วม?

เรียเรียงโดย : รัชด ชมภูนิช คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คําถามที่เกิดขึ้นอย่างมากมายระหว่างวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ นอกเหนือจากการซ่อมแซมบ้านและที่อยู่อาศัยแล้วคงเป็นเรื่ิองที่ว่า เราจะออกแบบบ้านใหม่หรืิอปลูกบ้านใหม่กันอย่างไรดีถึงจะอยู่รอดปลอดภัยจากน้ำท่วมกันอย่างไร

ผมเชื่อว่าหลังจากวิกฤตการณ์นี้ผ่านพ้นไป เราคงได้เห็นนวัตกรรมทางการออกแบบบ้านและที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับสถานการณ์น้ำในรอบใหม่จากบรรดานักออกแบบและผู้เกี่ยวข้องกันอีกมากมายแน่ๆ ครับ ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องดีที่สังคมจะมีโอกาสมากขึ้นในการได้เรียนรู้ ได้เลือกซื้อหาบ้านแบบใหม่ๆ ที่อยู่อาศัยใหม่ๆ ซึ่งแตกต่างจากโจทย์ในการอยู่อาศัยแบบเดิมๆ ที่คุ้นเคยกันมาอย่างแน่นอนครับ

อย่างไรก็ตาม ผมขอนําเสนอหลักการเบื้องต้นสําหรับบ้านคนไทยยุคใหม่ที่สามารถหนีน้ำหรืออยู่ร่วมกับน้ำท่วมได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพ หลายเรื่องก็เป็นการนําภูมิปัญญาแบบไทยๆ ของเราแต่ครั้งอดีตกาลที่เราอาจหลงลืมกันไปมาใช้กันอีกครั้ง

ส่วนหลายเรื่องก็เป็นการปรับแก้ไขจากการใช้งานเดิมๆ ที่มีปัญหาจากสภาพน้ำท่วมที่ผ่านมา เพื่อนําไปประยุกต์ให้เข้ากับรสนิยม สไตล์ ทําเลที่ตั้ง และความชอบส่วนบุคคลของแต่ละท่านได้ แล้วหลังจากนั้นเนื้อหาตอนต่อๆ ไปในหนังสือเล่มนี้จะค่อยๆ ลงรายละเอียดปลีกย่อยในแต่ละส่วน แต่ละองค์ประกอบของการออกแบบบ้านและที่พักอาศัยประเภทต่างๆ ต่อไปครับ

รูปแบบบ้าน : ในภาพรวมของการออกแบบบ้านหากท่านไม่อยากนั่งกังวลหรือนั่งลุ้นกับน้ำว่าจะท่วมหรือไม่ท่วมบ้านท่านในปีต่อๆ ไป แนะนําว่าท่านควรยกระดับพื้นบ้านเป็นใต้ถุนโล่งแบบบ้านเรือนไทยเดิมความสูงตั้งแต่ 1.20-2.00 เมตรตามสภาพระดับน้ำและภูมิประเทศ เพื่อลดผลกระทบจากน้ำท่วมขังและลดความเสียหายของตัวอาคารและทรัพย์สินในฤดูน้ำ นอกจากนี้แล้วการเปิดใต้ถุนโล่งยังลดความเสี่ยงจากปลวกใต้ดินเข้าเยี่ยมเยือนตัวบ้านรวมทั้งท่านยังสามารถบํารุงรักษาและซ่อมแซมท่อและระบบอุปกรณ์ต่างๆ ที่ติดตั้งอยู่ภายใต้พื้นบ้านได้สะดวกยิ่งขึ้นครับ

สําหรับระบบการสัญจรเข้าสู่ตัวบ้านและภายในบ้านนอกเหนือจากบันไดปกติแล้ว ควรพิจารณาใช้ทางลาดเอียง (Ramp) ที่มีความลาดชันตามกฏหมายควบคู่กันไปด้วย (1:12) เพื่อความสะดวกในการเดินเหินของผู้อาศัยที่เป็นผู้สูงอายุและเด็ก รวมทั้งยังทําให้การเคลื่อนย้ายสิ่งของและผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉินทําได้สะดวกเช่นกันครับ

สําหรับจํานวนชั้นของบ้านจากเดิมที่เคยเป็นชั้นเดียวหรือสองชั้น อาจพิจารณาเพิ่มเป็นสองชั้นครึ่งหรือสามชั้นเพื่อให้มีพื้นที่บ้านรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มขึ้นก็เป็นได้ครับ นอกจากนี้ในส่วนชั้นล่างที่เป็นใต้ถุนโล่งอาจออกแบบให้เป็นพื้นที่ใช้งานในช่วงปลอดน้ำได้ครับ โดยเลือกใช้ผนังสําเร็จรูปที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้สอยหรือถอดประกอบได้เมื่ออยู่ในช่วงน้ำหลากหรือน้ำท่วมขังนานๆ ครับ

ส่วนของวัสดุประกอบสําคัญในตัวบ้านทั้งส่วนพื้น ผนัง และฝ้าเพดานยังสามารถใช้วัสดุก่อสร้างแบบเดิมๆ ที่มีขายอยู่ในท้องตลาดได้ แต่ควรพิจารณาความแข็งแรงทนทานจากน้ำท่วมขังนานๆ หรือน้ำกัดเซาะในพื้นที่น้ำหลากซึ่งจะเป็นไปในลักษณะของการเลือกวัสดุปูพื้นบ้านชั้นล่างควรเลือกใช้หินประเภทต่างๆ หรือกระเบื้องมากกว่าไม้ ปาร์เก้และไม้ลามิเนตครับ

ผนังบ้านชั้นล่างหรือจุดที่น้ำท่วมถึงควรเลือกใช้ผนังปูนมากกว่าผนังไม้รวมทั้งหลีกเลี่ยงการตกแต่งประดับผนังชั้นล่างด้วยวัสดุไม้เพื่อลดความเสียหายครับ รวมทั้งควรเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างในส่วนฐานราก คานคอดิน แลวัสดุของตัวบ้านชั้นล่างครับ

ประตู หน้าต่างสําหรับชั้นที่น้ำท่วมถึงควรหลีกเลี่ยงประตูและวงกบไม้เนื้อแข็งเพื่อลดความเสี่ยงจากการความเสียหายจากน้ำท่วม ควรเลือกใช้ประตู หน้าต่างอลูมิเนียมจะทนน้ำท่วมได้ดีกว่าครับ

ระบบไฟฟ้า : ควรแยกวงจรจ่ายกระแสไฟฟ้าแต่ละชั้นออกจากกันอย่างสิ้นเชิงทั้งในแง่ของการติดตั้งและความละเอียดของวงจร เช่น แยกวงจรไฟฟ้าแสงสว่างและอุปกรณ์ไฟฟ้าออกจากระบบปรับอากาศ แยกวงจรควบคุมออกเป็นชั้นและส่วนๆ ตามลักษณะการใช้งาน เพื่อความยืดหยุ่นในการตัดการจ่ายกระแสไฟฟ้าออกจากกัน และควรเดินสายไฟลอยเพื่อความสะดวกในการตรวจสอบและซ่อมแซมครับ

สําหรับชั้นล่างควรเดินระบบสายไฟฟ้าสํารองเพิ่มเติมเพื่อแยกใช้งานในกรณีฉุกเฉิน เพื่อสํารองสําหรับการใช้ไฟฟ้าแสงสว่าง อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ นอกจากนี้ในจุดที่มีความสําคัญของบ้านชั้นล่างอาจพิจารณาเลือกใช้สายไฟฟ้าประเภททนน้ำและฝังดินได้เพื่อความมั่นใจในการใช้งานขณะน้ำท่วมขังครับ รวมทั้งการเดินสายโทรศัพท์ในบ้านก็ต้องพิจารณารูปแบบและตําแหน่งเชื่อมต่อที่มีความเสี่ยงจากน้ำท่วมน้อยที่สุดครับ

สําหรับระดับการติดตั้งปลั๊กและสวิทช์บ้านชั้นล่างที่มีความเสี่ยงจากน้ำท่วมถึง ควรหลีกเลี่ยงการติดตั้งอุปกรณ์เหล่านี้ในระดับต่ําใกล้พื้นแบบเดิม ควรติดตั้งสูงจากระดับพื้นประมาณ 1.20-1.40 เมตรเพื่อลดความเสี่ยงจากความเสียหายของอุปกรณ์จากน้ำท่วมขังครับ

ระบบประปา : แนวทางการเดินระบบประปาควรแยกการควบคุมแต่ละชั้นออกจากกันเช่นเดียวกับระบบไฟฟ้าโดยเฉพาะชั้นล่างๆ ตัวท่อไม่ว่าจะเป็นท่อน้้ําหรือท่อน้ำโสโครกควรติดตั้งแบบเดินลอยสูงจากพื้นประมาณ 0.40-0.50 เมตร เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบและซ่อมแซมทั้งขณะน้ำท่วมและช่วงปกติครับ ควรติดตั้งท่ออากาศในท่อน้ำโสโครกให้ครบทุกจุดและวางให้ปลายท่ออากาศยาวพ้นระดับน้ำท่วมอย่างเพียงพอ เพื่อรักษาสภาพการใช้งานให้มีประสิทธิภาพทั้งในภาวะปกติและน้ำท่วมครับ รวมทั้งควรเลือกใช้ท่อ PE แทนท่อ PVC เนื่องจากตัวท่อจะมีความยืดหยุ่นและทนทานต่อความเสียหายได้ดีกว่าครับ

นอกจากนี้การติดตั้งปั๊มน้ำควรติดตั้งสูงจากระดับพื้นชั้นล่างอย่างน้อย 0.50 เมตรหรือเหนือระดับน้ำท่วมขังเพื่อให้ระบบประปายังใช้งานได้เป็นปกติตลอดเวลาขณะน้ำท่วม และยังลดความเสี่ยงจากความเสียหายของอุปกรณ์ครับ

สําหรับตําแหน่งการติดตั้งถังเก็บน้ำในบ้านควรหลีกเลี่ยงการฝังดินเพื่อป้องกันน้ำท่วมไหลเข้าสู่ถังเก็บน้ำซึ่งจะมีผลต่อสุขอนามัยในการใช้งาน ควรเลือกใช้ถังเก็บน้ำสําเร็จรูปแบบวางตั้งพื้นจะมีความเสี่ยงจากน้ำท่วมไหลย้อนเข้าฝาถังได้ดีกว่า เนื่องจากระดับฝาถังจะอยู่สูงกว่าระดับน้ำท่วมขังมากกว่าการติดตั้งถังแบบฝังดินครับ

ระบบบําบัดน้ำเสียควรเลือกใช้ถังบําบัดสําเร็จรูปมากกว่าบ่อเกรอะ บ่อซึมเพราะจะทํางานได้ดีกว่าในช่วงน้ำท่วมขัง และมีระบบการป้องกันน้ำท่วมไหลเข้าฝาถังบําบัด นอกจากนี้ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมควรพิจารณาติดตั้งถังบําบัดน้ำเสียสําเร็จรูปสํารองสําหรับใช้งานในช่วงน้ำท่วมเพิ่มเติมตั้งอยู่ที่ระดับดินเพื่อการใช้งานได้อย่างปกติในขณะน้ำท่วมครับ

นอกจากนี้การติดตั้งปั๊มน้ำควรติดตั้งไว้ที่ระดับชั้นสองเพื่อลดความเสียหายของอุปกรณ์และการใช้งานในช่วงน้ำท่วมได้ครับ

ระบบท่อระบายน้ำควรพิจารณาจัดทําพื้นที่เก็บกักน้ำหรือ Sump Area เพื่อเป็นพื้นที่รองรับน้ำในจุดที่ต่ําที่สุดของท่อระบายน้ำภายในบ้านและเตรียมการติดตั้งปั๊มน้ำเพื่อการสูบน้ำท่วมขังออก และติดตั้งประตูน้ำเพื่อควบคุมน้ำไหลย้อนกลับเข้าท่อระบายน้ำภายในและตัวบ้าน จะช่วยแก้ปัญหาจากสภาพน้ำท่วมขังในบริเวณบ้านได้ครับ

ระบบปรับอากาศ : สําหรับอุปกรณ์ปรับอากาศที่ใช้งานในบ้านทุกชั้น ไม่ควรวางคอยล์ร้อนหรือคอนเดนเซอร์ไว้ที่ระดับพื้นดิน อย่างน้อยควรติดตั้งที่ระดับพื้นชั้นสองหรือติดตั้งบนตะแกรงเหล็กที่รับน้ำหนักตัวเครื่องได้ในระดับพื้นชั้นสองขึ้นไป เพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายของอุปกรณ์จากน้ำท่วมขัง

เฟอร์นิเจอร์ : การเลือกใช้งานเฟอร์นิเจอร์ในชั้นล่างหรือชั้นที่มีความเสี่ยงจากน้ำท่วม ควรหลีกเลี่ยงเฟอร์นิเจอร์แบบ Built-in หรือควรเป็นรูปแบบที่ท่านสามารถถอดประกอบได้ หรือหากจําเป็นควรหลีกเลี่ยงการออกแบบให้ตัวเฟอร์นิเจอร์ Built-in ยาวจรดพื้น ควรเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัวเป็นหลักเพื่อความสะดวกในการขนย้ายและห่อหุ้มป้องกันน้ำได้สะดวกกว่าครับ

อุปกรณ์คู่บ้าน : สิ่งที่ต้องเตรียมไว้คู่กับบ้านใหม่ในยุคน้ำท่วมทุกบ้าน ควรมีอุปกรณ์ป้องกันน้ำเข้าบ้านเบื้องต้นที่สามารถนํามาใช้งานได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นถุงห่อรถ แผ่นพลาสติกผืนใหญ่กันน้ำ ถุงกันน้ำขนาดใหญ่ ปืนยิงซิลิโคน วัสดุอุดต่างๆ เครื่องสูบน้ำ รวมทั้งอุปกรณ์ยังชีพในขณะเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ไฟฉาย เชือก เสื้อชูชีพ รองเท้าบูทกันน้ำ ยา อาหารแห้ง เชื้อเพลิง ฯลฯ ก็ควรจัดเตรียมไว้ทั้งในระดับตัวบุคคลและสําหรับครอบครัวในช่วงเทศกาลน้ำหลากในครั้งต่อๆ ไปครับ
ที่มา http://www.prasong.com