เทคนิค การทำให้บ้านเย็นด้วยวิธีธรรมชาติ
ดังที่ทราบกันอยู่ว่า อากาศในบ้านเรานั้น มักจะค่อนไปทางร้อนอบอ้าวเสียเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากเราเป็นประเทศในเขตร้อน แม้แต่ในฤดูฝนซึ่งมีฝนตกลงมาให้เย็นชุ่มฉ่ำกันบ้าง แต่ในวันที่ไม่มีฝนหรือวันที่ฝนใกล้ตกนั้น สภาพอากาศก็มักจะร้อนอบอ้าวไม่ต่างอะไรจากหน้าร้อนสักเท่าใด วิธีหนีร้อนที่บ้านเรือนส่วนใหญ่มักใช้กันในสมัยนี้ก็คงหนีไม่พ้นการติดเครื่องปรับอากาศหรือการใช้พัดลมมาช่วยคลายร้อน ช่วงไหนที่อากาศร้อนมาก ก็ย่อมหมายถึงตัวเลขที่น่าสยองขวัญ ซึ่งจะมาปรากฎในบิลค่าไฟฟ้าที่คุณต้องจ่ายในแต่ละเดือนนั่นเอง
เริ่มด้วย การจัดวางทิศทางของบ้านตามหลักการรับลมหลบแดด คือหันด้านยาวของบ้านในแนวทิศเหนือใต้ เพื่อหลบแสงตะวันที่จะทำให้พื้นที่ต่างๆด้านทิศตะวันตกและตะวันออกเกิดความร้อนเพิ่มมากขึ้น และช่วยให้ลมพัดเข้าบ้านได้ดีในฤดูร้อน (ลมมาจากทางทิศใต้และตะวันตกเฉียงใต้) ลองหันมาสำรวจบ้านของคุณเองกันสักทีจะดีกว่า ว่าเราจะสามารถปรับปรุงบ้านของเราให้เย็นสบาย ด้วยวิธีธรรมชาติได้อย่างไรบ้าง
การปรับปรุงภายในบ้าน
หน้าต่าง ผ้าม่านมูลี่ ช่องหน้าต่างที่อยู่ทางทิศตะวันตก-ตะวันออกนี้ ควรติดตั้งมู่ลี่ปรับแสง เพื่อใช้กระจายแสง และสะท้อนความร้อนออกได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ การใช้ผ้าม่านที่หน้าต่างแบบต่างๆ ก็ช่วยสร้างความเป็นส่วนตัว บดบังสายตาจากคนภายนอก ป้องกันแสงแดด และความร้อนเข้าสู่พื้นที่ภายในห้อง
ไปส่วนหนึ่ง
สกายไลท์(skylight) หรือช่องแสงที่หลังคา ควรให้มีขนาดเล็กที่สุด เพื่อป้องกันความร้อนที่จะผ่านเข้ามาจากหลังคา และควรมีการป้องกันแสงด้วยการติดตั้งมู่ลี่เกล็ดปรับมุมได้ ซึ่งอาจจะควบคุมด้วยไฟฟ้า เพื่อบังแดดที่จะส่องเข้ามาทางนี้ สกายไลท์มีส่วนช่วยทำให้เกิดการไหลเวียนของอากาศ (ventilation) โดยใช้กระแสพาความร้อน แต่ถ้าช่องแสงนี้ใหญ่มากก็จะทำให้ภายในห้องร้อนมาก จากความร้อนที่ผ่านเข้ามาทางกระจกสกายไลท์นั่นเอง
เทศนิคการระบายอากาศ (ventilations) เป็นเทคนิคที่เหมาะสมกับสภาพอากาศของบ้านเราเป็นอย่างยิ่ง โดยให้อากาศที่สดชื่น จากภายนอกไหลเวียนเข้ามาภายในบ้าน และระบายอากาศที่ร้อนอ้าวภายในออกไป โดยการเปิดช่องหน้าต่างสองด้านของห้อง เทคนิคนี้จะทำให้ความเร็วลมที่ไหลเข้ามาในห้องเพิ่มขึ้น เมื่อช่องทางที่ลมเข้านั้นมีขนาดเล็ก และอยู่ต่ำ ส่วนช่องทางที่ลมไหลออกนั้นให้มีขนาดใหญ่กว่า และอยู่สูงกว่าก็จะทำให้ลมพัดผ่านคนที่อยู่ภายในห้อง
การติดตั้งฉนวนกันความร้อนลงไปที่ผนังและหลังคา ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลในการทำบ้านให้เย็น โดยเฉพาะห้องที่เราติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ฉนวนที่ผนังจะช่วยเก็บความเย็นภายในห้องไว้ได้นาน และป้องกันความร้อนจากภายนอกที่จะส่งผ่านเข้ามาทางหลังคา และผนัง โดยเฉพาะการติดฉนวนที่ฝ้าเพดาน และแผ่นสะท้อนความร้อนที่หลังคา ก็จะช่วยสะกัดกั้นความร้อนที่จะเข้าสู่ตัวบ้านไปได้มาก ฉนวนกันความร้อนที่มีค่าการต้านทานความร้อนมากๆ ก็จะป้องกันความร้อนได้มากกว่า
การใช้อุปกรณ์เครื่องไฟฟ้าเพื่อทำให้บ้านเย็น ได้แก่ การใช้พัดลม และเครื่องปรับอากาศ ในบ้านเรามีความชื้นสัมพัทธ์ที่สูง 70-80% เกือบตลอดปี จึงเป็นการยากที่เราจะใช้เทคนิคของการระบายอากาศโดยธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียว เครื่องปรับอากาศและพัดลมจึงเป็นอุปกรณ์ที่เราจำเป็นต้องมีไว้ เพื่อช่วยคลายร้อนให้ในค่ำคืนที่ร้อนอบอ้าวเพราะฝนใกล้ตก และในช่วงฤดูร้อน ดังนั้น ในการติดเครื่องปรับอากาศนั้น ขอฝากข้อแนะนำเล็กน้อยๆ ดังนี้คือ
- เครื่องปรับอากาศต้องมีขนาดเหมาะสมกับห้อง ไม่เล็กเกินไป เพราะจะทำให้การทำความเย็นไม่เพียงพอ ทำให้เรารู้สึกอบอ้าวและเครื่องทำงานหนัก เครื่องต้องไม่มีขนาดใหญ่เกินไป เพราะจะทำให้เปลืองไฟฟ้า และห้องมีความเย็นมากเกินไปอาจเป็นหวัดได้
- ห้องที่ปรับอากาศควรปิดให้สนิทเพื่อป้องกันความเย็นไม่ให้รั่วไหลออกมาภายนอกซึ่งจะทำให้เครื่องทำงานหนัก ควรปรับการไหลเวียนของอากาศภายในห้อง ด้วยการใช้เครื่องปรับอากาศที่มีบานเกล็ดปรับกระจายลมได้หลายทิศทางซึ่งจะหมุนเวียนอากาศอยู่ตลอดเวลา
- หมั่นทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศในส่วนของแผงกรองฝุ่นเพื่ออนามัยที่ดีของทุกคน
การปรับปรุงภายนอกบ้าน
ต้นไม้ เป็นอุปกรณ์บังแดดทางธรรมชาติ ที่เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมได้อย่างดีที่สุด ควรปลูกไม้ที่ให้ร่มเงาเช่นมะม่วง จำปี ฯลฯ ไว้ทางทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ เพราะไม้มีพุ่มใบหนา ให้ดอกผลป้องกันแดดได้
ดี ส่วนทิศเหนือควรปลูกไม้พุ่มเตี้ยเพื่อจะได้ไม่บังลม และสร้างความร่มรื่น ต้นไม้ที่มีใบเล็กละเอียดสามารถกรองซับความจ้าของแสงและสะท้อนความร้อนไปได้ส่วนหนึ่ง เช่น ต้นแก้ว ต้นเข็ม เป็นต้น และยังใช้เป็นไม้ประดับสวนได้ดีอีกด้วย
ความยาวของชายคาบ้าน ทางทิศเหนือนั้นจัดว่าได้รับแสงจ้าน้อยกว่าทิศอื่นๆ จึงไม่จำเป็นต้องมีชายคายาวมากเพียง 0.80-1.00 เมตรก็เพียงพอ แต่สำหรับทิศใต้นั้นในฤดูหนาวดวงอาทิตย์จะทำมุมต่ำทำให้หน้าต่างด้านนี้ต้องการชายคาคลุมยาวขึ้น อย่างน้อยควรให้ชายคายาว 1.20-1.50 เมตรหรือมากกว่านี้ ถ้าชายคาตัดสั้นกว่า 1.00 เมตรควรพิจารณาใช้กันสาดบังแดดที่หน้าต่างเพื่อให้ร่มเงากับหน้าต่างให้มากที่สุด ห้องจะได้ไม่ร้อน ส่วนทิศตะวันออกและตะวันตกนั้น ความยาวของชายคาอาจไม่เพียงพอต่อการสร้างร่มเงาบนผนังและช่องหน้าต่างได้ เพราะแดดในทิศนี้ทำมุมต่ำมาก เราอาจเสริมด้วยกันสาดหรือแผงบังแดดในลักษณะต่างๆ ตามความเหมาะสม
ผนังบ้าน การเลือกใช้วัสดุทำผนังที่มีความหนามาก เพื่อช่วยหน่วงให้ความร้อนผ่านเข้าสู่ภายในห้องได้ช้าลง ก็เป็นสิ่งที่น่าจะพิจารณาอยู่เหมือนกัน เพราะผนังแบบนี้เราเรียกว่าเทอร์มอล แมส (thermal mass) เช่น ผนังอิฐหนาสองชั้น ผนังคอนกรีตที่หนาและหนัก ผนังแบบนี้จะร้อนช้าและเย็นช้าเมื่อได้รับความร้อน เนื่องจากมวลของวัสดุที่หนาหนัก และในทางตรงกันข้ามโครงสร้างที่เบาได้แก่ผนังโครงคร่าวไม้หรือเหล็ก จะมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ โดยผนังจะร้อนเร็วเมื่อได้รับความร้อนและทำให้เย็น โดยการคายความร้อนออกในเวลากลางคืนได้รวดเร็วกว่าซึ่งจะเหมาะกับ อากาศร้อนแบบบ้านเราที่อุณหภูมิช่วงกลางวันและกลางคืนไม่แตกต่างกันมากนัก
ดังนั้น ในฤดูร้อนที่อากาศร้อนจัดเมื่อเราสร้างบ้านด้วยผนังที่มีความหนามาก ผนังจะบรรจุความร้อนไว้เป็นจำนวนมากในเวลากลางวัน และทำให้เกิดความร้อนอ้าวในเวลากลางคืน (เพราะผนังหนาๆ นั้นคายความร้อนออกมาสู่อากาศที่เย็นกว่าในเวลากลางคืน) เราจึงรู้สึกอึดอัดและไม่สบายตัว ปัญหาของผนังหนาแบบนี้ เราสามารถป้องกันได้ โดยสร้างร่มเงากับผนังให้มากที่สุด ทั้งโดยการปลูกต้นไม้ และโดยการสร้างอุปกรณ์บังแดด
การใช้สีทาบ้าน การใช้กระเบื้องหลังคาสีอ่อนๆ และทาสีบ้านด้วยสีที่อ่อนสว่าง ก็เป็นเทคนิคง่ายๆ อย่างหนึ่งในการช่วยสะท้อนความร้อนออกไปจากตัวบ้าน เทคนิคของสีอ่อนนี้ช่วยลดอุณหภูมิที่พื้นผิวของบ้าน ซึ่งจะรวมไปถึงการนำความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผนังด้านทิศตะวันตกและตะวันออก ส่วนบ้านเรือนที่อยู่ในเขตอบอุ่นที่มีฤดูหนาวหนาวจัด มักทาสีอาคารด้วยสีมืดทึมทั้งผนังและหลังคาเพื่อช่วยดูดซับความร้อนไว้ทำให้อาคารอุ่นขึ้น
การสเปรย์น้ำขึ้นไปบนหลังคาในช่วงที่อากาศร้อนจัด เช่น ในเดือนเมษายน เพื่อลดความร้อนที่หลังคาโดยการระเหยของน้ำ วิธีนี้เหมาะกับอากาศที่มีความชื้นไม่สูง ต่ำกว่า 75% เพราะจะทำให้ไอน้ำระเหยได้ดี และช่วยพาความร้อนออกไปจากหลังคา ส่วนน้ำที่ใช้ไปแล้วก็สามารถรองเก็บไว้ใช้หมุนเวียนได้อีก
เทคนิคที่กล่าวถึงเหล่านี้ก็เป็นที่นิยมใช้สำหรับภูมิอากาศร้อนชื้นอย่างบ้านเรา และเพื่อให้เราประหยัดค่าไฟฟ้ามากที่สุดก็ควรจะทำให้ผนังบ้านของเราอยู่ในร่ม และไม่เปียกฝน หรือชื้น เพื่อลดการใช้เครื่องปรับอากาศลง และสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่ดีให้กับโลกค่ะ...
แหล่งที่มา homedd