ขณะประเทศไทยประสบอุทกภัยน้ำท่วมเป็นจำนวนมาก เกิดความเดือดร้อนกันทั่วสารทิศ บางแห่งถึงกับไม่มีที่อยู่อาศัย ขาดข้าวปลาอาหารในการประทังชีวิตตน บางที่บ้านถูกน้ำท่วมหายไปทั้งหลัง บางแห่งบ้านถูกน้ำพัดพาไป จนไม่มีที่แม้จะพำนักพักพิง กรมโยธาธิการและผังเมืองจึงได้ศึกษาค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลต่างๆเพื่อที่จะหาสิ่งต่างๆที่จะมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ และเพื่อเตรียมรับมือกับภาวะน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้น
เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2550 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จมายังกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อทรง เปิดพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อได้ทอดพระเนตรนิทรรศการแบบบ้านเพื่อประชาชน ของกรมฯ แล้วได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับ “บ้านลอยน้ำ” ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง จึงได้นำเอาแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้จาก “บ้านลอยน้ำท่าขนอน” โดยบ้านลอยน้ำท่าขนอน อยู่ในอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ในพื้นที่ โดย บ้านลอยน้ำนั้นมีลักษณะเป็นเรือนแพ ซึ่งในฤดูแล้งตัวบ้านจะตั้งอยู่บนพื้นดินตามปกติ แต่เมื่อถึงเวลาน้ำท่วม ตัวบ้านก็จะลอยขึ้นตามระดับน้ำ และมีการยึดตัวบ้านเอาไว้กับเสาหลักเพื่อป้องกับการโคลงตัว หรือลอยไปตามกระแสน้ำ จากนั้นพอเวลาน้ำลดลง บ้านก็จะกลับมาตั้งตัวอยู่บนพื้นดินเหมือนเดิม
แบบบ้านลอยน้ำ
ขนาดของบ้านลอยน้ำที่ได้ออกแบบขึ้นนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของขนาดวัสดุสำเร็จรูปที่มีขายอยู่ทั่วไปในท้องตลาด เพื่อให้เป็นการใช้วัสดุที่คุ้มค่าที่สุดเท่าที่จะทำได้ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้และทำการก่อสร้าง ได้ง่าย เนื่องจากมีระบบวิศวกรรมโครงสร้างเป็นรูปแบบอย่างง่าย ชาวบ้านที่มีความรู้ด้านช่างในระดับทั่วไปก็จะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้เอง
บ้านหลังนี้มีขนาดพื้นที่รวมประมาณ 60 ตารางเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่ไม่ใหญ่มาก เพื่อความสะดวกในการก่อสร้างและการลอยน้ำ แต่หากมีความต้องการพื้นที่เพิ่มขึ้นก็อาจเชื่อมต่อหลายหลังเข้าด้วยกัน โดยใช้สะพานทางเชื่อมพาดระหว่างชานรอบตัวบ้าน
สำหรับราคาค่าก่อสร้างประมาณการได้ว่ากรณีดำเนินการก่อสร้างเองจะมีราคาประมาณหลังละ 719,000 บาท หากจ้างเหมาราคาประมาณหลังละ 915,000 บาทเนื่องจากต้องมีการคิดค่าดำเนินการ กำไรและภาษีด้วย
แนวคิดในการออกแบบนั้น ออกแบบขึ้นโดยแนวคิดเพื่อป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยตามฤดูกาล และตั้งอยู่บนพื้นดินในภาวะปกติ โดยให้บ้านทั้งหลังสามารถลอยสูงขึ้นได้ตามระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างไรก็ตามบ้านลอยน้ำนี้ไม่เหมาะกับพื้นที่ที่มีน้ำไหลเชี่ยวกรากรุนแรง
ขนาดพื้นที่ที่ใช้ในการติดตั้งบ้านลอยน้ำประมาณ 60 ตารางเมตรประกอบด้วยพื้นที่อยู่อาศัย 23 ตารางเมตร ส่วนทำอาหารห้องน้ำและซักล้าง รวม 37 ตารางเมตร
โดยราคาค่าก่อสร้างบ้านลอยน้ำโดยประมาณ 719,000 บาท (กรณีปลูกสร้างเอง) ไม่ต้องใช้ผู้รับจ้างเหมาและประมาณ 915,000 บาท (กรณีมีผู้รับจ้างเหมา)
วัสดุก่อสร้างบ้านลอยน้ำจะใช้วัสดุก่อสร้างพื้นฐานทั่วไปที่สามารถหาได้ง่ายในท้องตลาด ซึ่งสามารถดัดแปลงได้ตามความเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ทุ่นลอยเป็นถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร หรือถังไฟเบอร์กลาสกรณีต้องการความทนทานเพิ่มขึ้น
ระบบสุขาภิบาลภายในบ้านลอยน้ำนั้น จะใช้ระบบการย่อยสลายโดยมีถังบรรจุจุลินทรีย์ EM ติดตั้งอยู่ใต้ห้องน้ำเพื่อย่อยสลายและเร่งการตกตะกอนของสิ่งปฎิกูล
บ้านลอยน้ำนั้น ก็ถือเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่รองรับการท่วมของน้ำที่จะมาในอนาคตข้างหน้าได้เป็นอย่างดี เปรียบเสมือนการเตรียมตัวเพื่อรองรับผล ที่ยังไงๆมันก็ต้องเกิดอย่างแน่นอนให้รับมือกับมันได้ แต่อย่างไรก็ตาม เราทุกคนควรที่จะช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ช่วยกันอนุรักษ์ป่าต้นน้ำของไทยเอาไว้ ดูแลทรัพยากรของโลกให้ดี ไม่เช่นนั้นก็ต้องเกิดภัยภิบัติแบบนี้ต่อไปอีกไม่รู้จบอย่างแน่นอน
สำหรับใครที่ต้องการจะช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ตามลิงค์ด้านล่างนี้ได้เลยครับ ทางเว็บไซต์ของเราได้รวบรวมศูนย์ที่คอยรับบริจาคไว้แล้วนะครับ ใครมีมากก็ช่วยมากใครมีน้อยก็ช่วยน้อย ใครไม่มีก็ช่วยแรง ช่วยส่งกำลังใจครับ เราคนไทยด้วยกันต้องช่วยเหลือกันนะครับผม : )
ลิงค์ – รวมช่องทางสำหรับการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (น้ำท่วม)
อ้างอิงข้อมูลจาก
- hilight.kapook.com/view/63246
- www.dpt.go.th/download/PW/floating_house/detail.html