ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง จะกระทำโดยผู้ใดได้บ้าง

ผู้ควบคุมงาน จะกระทำโดยผู้ใดได้บ้างนั้น การพิจารณาต้องพิจารณาจากกฎหมาย ๓ ฉบับ คือ:-
• ๑. พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒
• ๒. กฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ. ๒๕๔๙ ออกตามพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. ๒๕๔๓
• ๓. กฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. ๒๕๕๐ ออกตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. ๒๕๔๒
๑.พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕
มาตรา ๒๙ วรรคสอง บัญญัติว่า:- ผู้ควบคุมงานจะเป็นบุคคลใดหรือเป็นเจ้าของอาคารก็ได้ เว้นแต่จะเป็นการต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพวิศวกรรมหรือกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพสถาปัตยกรรม
พิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า:- การควบคุมงานตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ นั้น โดยปกติแล้ว จะเป็นผู้ใดก็ได้ เช่น ผู้รับเหมา วิศวกร สถาปนิก ฯลฯ หรือเจ้าของอาคารจะเป็นผู้ควบคุมงานด้วยตนเองก็ย่อมได้ ทั้งนี้ เว้นแต่กรณีเข้าข่ายควบคุม(ต้องห้าม)ตามพ.ร.บ.สถาปนิกฯ หรือ พ.ร.บ.วิศวกรฯ จะต้องให้สถาปนิกหรือ วิศวกรในแต่ละสาขาและระดับควบคุมเท่านั้น ดังนั้น เรามาดูกฎหมายของสถาปนิกกับวิศวกร กันดูนะครับว่าบัญญัติไว้อย่างไรบ้าง
๒.กฎกระทรวง กำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ. ๒๕๔๙ บัญญัติว่า:-
ข้อ ๒ วิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม ได้แก่ วิชาชีพสถาปัตยกรรมในสาขา ดังต่อไปนี้ (๑) สาขาสถาปัตยกรรมหลัก ในงานตามข้อ ๓ ยกเว้นการออกแบบ วางผังอาคารที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลพื้นที่รวมกันไม่เกิน ๑๕๐ ตารางเมตร หรืออาคารเพื่อการเกษตรพื้นที่ไม่เกิน ๔๐๐ ตารางเมตร
ข้อ ๓ งานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมแต่ละสาขา มีดังต่อไปนี้ (๓) งานบริหารและอำนวยการก่อสร้าง หมายถึง... การควบคุมการก่อสร้าง...
พิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า:- การควบคุมการก่อสร้าง นั้น เข้าข่ายเป็นงานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมทุกประเภท ทุกขนาด ครับ รายละเอียด ตามข้อ ๓ ของกฎกระทรวงฯ ส่วนกรณีข้อยกเว้นตามข้อ ๒ นั้น:- หลักกฎหมายมีอยู่ว่า ข้อยกเว้นในกฎหมาย การตีความ ต้องตีความโดยเคร่งครัด พิจารณาจากข้อ๒ แล้ว จะเห็นได้ว่า:- กฎหมายใช้คำว่า ยกเว้น การออกแบบวางผังอาคาร เท่านั้น การควบคุมงานไม่มีการยกเว้นแต่อย่างใด ดังนั้น แม้จะเป็นอาคารพักอาศัยพื้นที่ไม่เกิน ๑๕๐ ตารางเมตร ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องใช้สถาปนิกเป็นผู้ออกแบบ
๓.ข้อบังคับสภาวิศวกรว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับสาขาวิศวกรรมโยธาพ.ศ. ๒๕๕๑บัญญัติว่า:-
ข้อ ๖ ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธาระดับภาคีวิศวกร ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ได้เฉพาะงาน ประเภทและขนาดดังนี้
(๑) งานออกแบบและคำนวณ..............
(๒) งานควบคุมการสร้างหรือการผลิต
(ก) อาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๘ ชั้น
(ข) อาคารสาธารณะที่มีความสูงไม่เกิน ๘ ชั้น
พิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า:- อาคารทุกขนาดเข้าข่ายเป็นอาคารควบคุมตาม กฎกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ.วิศวกรฯ โดยผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธาระดับภาคีวิศวกร ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ได้เฉพาะงาน ประเภทและขนาดดังนี้
(๒) งานควบคุมการสร้างหรือการผลิต
(ก) อาคารที่มีความสูงไม่เกิน ๘ ชั้น (อาคารของเราสูงเพียง 2 ชั้น แต่ละชั้นสูงถึง 4 เมตร และไม่มีช่วงคานใดถึง 5 เมตรเลย)
สรุปได้ว่า:- อาคารพักอาศัย สองชั้น พื้นที่ ๓๐๐ ตารางเมตร เจ้าของอาคารเป็นผู้ควบคุมงานเองไม่ได้ครับ อย่างน้อยต้องมีสถาปนิกเป็นผู้ควบคุม หรือ ต้องมีวิศวกรควบคุมงาน คนใดคนหนึ่ง ก็ได้
ที่มา http://www.asa.or.th