การพิจารณาเลือกแบบบ้าน ให้เหมาะสมกับที่ดิน

ผู้ที่สร้างบ้านบนที่ดินตนเองนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีที่ดินเป็นของตนเองอยู่แล้ว และกำลังต้องการที่จะเลือก แบบบ้านสักหลัง เพื่อที่จะปลูกสร้างบ้านบนที่ดินแปลงนั้น ในการเลือกแบบบ้านให้เหมาะสมกับที่ดินนั้น เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เนื่องจากการเลือกแบบบ้านที่ดีนั้น ก็จะทำให้ท่านได้บ้านที่น่าอยู่ อยู่แล้วเย็นสบาย การใช้สอยภายในบ้านสะดวกสบายมีความเป็นส่วนตัว และมีมุมมองภายใน และภายนอกที่ดี ซึ่งต่างจากการเลือกซื้อบ้านจัดสรรที่มีการสร้างไว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ต้องซื้อตามที่ผู้ประกอบการวางตำแหน่งไว้ให้ และไม่สามารถเลือกได้มากนัก

การสร้างบ้านบนที่ดินตนเองนั้น สามารถเลือกการวางตำแหน่งบ้านและสามารถกำหนดทิศทาง ระยะของการวางบ้านได้ก่อนที่จะมีการสร้างบ้านจริง ซึ่งในขั้นต้นสถาปนิกที่ประจำอยู่ในบริษัทรับสร้างบ้าน ที่ท่านพิจารณาเลือกบ้านนั้น ก็ต้องเป็นผู้ให้คำแนะนำการเลือกแบบบ้าน การวางตำแหน่งบ้านให้เหมาะกับที่ดิน ของท่านก่อน โดยท่านต้องเป็นผู้พิจารณาประกอบกับความต้องการเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้สอยอาคารของท่าน เพื่อให้ท่านได้บ้านที่มีความสวยงาม มีประโยชน์ใช้สอยที่ดี และอยู่สบาย ซึ่งปัจจัยในการพิจารณาเบื้องต้น ในการเลือกแบบบ้านให้เหมาะสมกับที่ดินนั้นมีดังนี้

1. พิจารณาเรื่องลักษณะของที่ดินให้เหมาะสมกับแบบบ้าน
ในกรณีที่ดินของท่านมีขนาดกว้างขวาง หรือใหญ่โต ในการเลือกแบบบ้าน คงจะไม่มีข้อจำกัดมากนัก แต่หากว่าท่านมีที่ดินขนาดจำกัด การเลือกรูปทรงแบบบ้านให้เหมาะสมกับรูปที่ดิน ก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถ้าหากรูปทรงที่ดินของคุณ เป็นรูปทรงแนวลึก แต่เลือกแบบบ้านแนวกว้าง ก็อาจจะไม่เหมาะสมนัก หรือหากมีที่ดินแนวกว้าง แต่เลือกแบบบ้านแนวลึก ก็อาจจะไม่เหมาะสมเช่นกัน

2. พิจารณาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมโดยรอบที่ดิน
การพิจารณาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมโดยรอบที่ดินนั้น เป็นตัวกำหนดว่าฟังก์ชั่นการใช้สอยส่วนใดควรอยู่ตรงไหน และฟังก์ชั่นการใช้สอยใดไม่ควรอยู่ตรงไหน เนื่องจากบางพื้นที่ของบ้าน เช่นห้องนอน ห้องทำงาน และห้องพักผ่อน เราต้องการความเป็นส่วนตัว และความสงบเงียบ ดังนั้นพื้นที่ดังกล่าวก็ควรอยู่ในด้านที่ไม่มีเสียงดังและ ไม่ใช่ด้านที่มีผู้คนพลุกพล่านติดถนน หรือติดกับพื้นที่ข้างเคียงที่เป็นหอพัก

3. พิจารณาเกี่ยวกับข้อกฎหมายเกี่ยวกับระยะร่นของอาคาร
การพิจารณาเกี่ยวกับระยะร่นของอาคาร เป็นผลต่อการเลือกแบบบ้านให้เหมาะสมกับที่ดินเช่นกัน เนื่องจากตามกฎหมายนั้น กำหนดให้ช่องเปิดหน้าต่างของบ้านทุกช่องนั้นห่างจากแนวเขตที่ตามกฎหมาย ไม่ต่ำกว่า 2.00 ม. ในกรณที่ี่เป็นบ้าน 2 ชั้น และไม่ต่ำกว่า 3.00 ม. ในกรณีที่บ้านของท่านมี 3 ชั้นขึ้นไป ซึ่งหากเลือกแบบบ้านแล้ว พิจารณาให้ดีกับหัวข้อนี้ด้วยก็จะทำให้บ้านที่ท่านสร้าง ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ต้องปรับแก้แบบจากแบบมาตรฐานที่ท่านชอบมากนัก

4. พิจารณาเกี่ยวกับทิศทางลม และทิศทางแดด
การพิจารณาเรื่องทิศทางลม ทิศทางแดด ในการวางตำแหน่งบ้านก็มีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน เนื่องจากว่าการเลือกบ้านและการวางตำแหน่งอาคารลงบนที่ดิน หากพิจารณาให้รอบคอบ ก็จะทำให้บ้านมีความเย็นสบาย ไม่ร้อนอบอ้าว พึ่งพาเครื่องปรับอากาศได้น้อยที่สุด และได้เปิดมุมมองสู่ภายนอกได้ดีที่สุด ประเด่นในการพิจารณาก็คือ ควรวางตัวอาคารด้านแคบไว้ตาม แกนทิศตะวันออกและทิศตะวันตก เพื่อรับแสงแดดในตอนสายและตอนเย็นให้น้อยที่สุด

5. พิจารณาเกี่ยวกับพฤติกรรมการอยู่อาศัยของสมาชิกในครอบครัว
ข้อสุดท้ายในการพิจารณาจากพฤติกรรมการใช้สอยของสมาชิกในครอบครัวซึ่งมีความแตกต่างกันแล้วแต่ครอบครัว ซึ่งต้องวิเคราะห์ดูว่าความจำเป็นที่แท้จริงคืออะไรบ้าง ซึ่งหากสร้างขึ้นมาแล้วไม่ได้ใช้ ก็ไม่เกิดประโยชน์ แถมต้องเป็นภาระที่ต้องดูแลภายหลังอีกด้วย

From: นิตยสาร สามาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน