วิธีการปูกระเบื้อง

1. วิธีการปูกระเบื้องแบบเปียก
1.1 การปูกระเบื้องพื้นใช้วิธีการปูแบบเปียก คือเทปูนทรายปรับระดับ แล้วจึงเริ่มปูกระเบื้องโดยระวังไม่ให้เกิดโพรงอากาศระหว่างกระเบื้องกับผิวปูน ซึ่งเป็นวิธีที่กระเบื้องจะติดแน่นกับผิวพื้นได้ดี
1.2 ก่อนปูกระเบื้องต้องขึงเชือกหาแนวดิ่ง ฉากของกระเบื้องในแถวแรกเพื่อเป็นแนวในการปูแถวต่อ ๆ ไป หากเป็นการปูสลับแนวต้องควบคุมแนวกระเบื้องให้ระยะของแนวที่ปูสลับเท่ากันโดยตลอดจัดระยะห่างของกระเบื้องทั้งด้านสั้นและด้านยาวให้เท่ากัน แนวกระเบื้องบริเวณมุมและรอยต่อมีความเรียบร้อย ระยะความสูงเสมอกัน ได้แนวระนาบ ขนาด สี ลวดลาย ความประณีตของเนื้องาน ความลาดเอียงของพื้นต้องมีทิศทางที่ช่วยให้น้ำไหลลงท่อได้สะดวก
1.3 ระหว่างปูกระเบื้องต้องหมั่นซับทำความสะอาดน้ำปูนระวังอย่าให้จับเป็นคราบ ฝ้า ผิวกระเบื้องที่ปูแล้วต้องได้ระดับเสมอกันทุกแผ่น เหลี่ยมมุมของกระเบื้องไม่แตกบิ่น ชำรุด

2. วิธีการปูกระเบื้องแบบซาลาเปา
2.1 การปูกระเบื้องพื้นโดยใช้วิธีการปูแบบซาลาเปา คือการปูโดยช่างจะใช้ปูนพอกเป็นก้อนบนหลังแผ่นกระเบื้อง เหมือนลูกซาลาเปา แล้วนำแผ่นกระเบื้องวางบนผิวปูนหยาบ เนื้อปูนบริเวณผิวพื้นด้านล่างจะไม่เสมอ จึงมีโอกาสที่แผ่นกระเบื้องแตกบริเวณมุม ปูนยาแนวแตก น้ำจะซึมเข้าไปใต้แผ่นกระเบื้อง ทำลายโครงสร้างอาคาร ความชื้นที่สูงมากและระบายออกไม่ทัน ทำให้กระเบื้องพื้นระเบิด (กระเบื้องจะหลุดออกมาจากพื้นเป็นแผ่นๆ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ความชื้น อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง คุณภาพกระเบื้องที่มีอัตราส่วนการยืดหดตัวสูง การปูกระเบื้องแบบชิด)

3. วิธีการปูกระเบื้องแบบปูนกาว
3.1 การปูกระเบื้องพื้นโดยใช้วิธีการปูแบบปูนกาว คือใช้เกรียงฟันร่องดักปูนใส่ด้านหลักระเบื้องฉาบเป็นร่องปาดให้ทั่วทั้งแผ่นด้วยการออกแรงกดเบาๆ ให้มีเนื้อปูนประมาณ 5 มิลลิเมตร
3.2 นำกระเบื้องติดบนพื้นตามแนวแล้วเคาะเบาๆ ด้วยค้อนยางหรือด้ามเกรียงให้แน่นกับพื้นผิวปาดปูน ส่วนเกินออก
3.3 ปูแผ่นต่อไปโดยให้ช่องห่างแนวกระเบื้องประมาณ 2-3 มม. เป็นแนวตรงไม่บิดเบี้ยว โดยปูตามแนวของเส้นที่ที่ไว้ทั้งแนวนอนและแนวตั้งก่อน แล้วค่อยปูให้เต็มพื้นที่
3.4 ควรทิ้งไว้ 1 วัน ก่อนถึงสามารถเหยียบเข้าไปเก็บส่วนที่ขาดรอบห้องได้ การปูกระเบื้องในส่วนที่ไม่เต็มแผ่นจะต้องวัดส่วนที่ต้องการตัดออกด้วยตลับเมตรว่าต้องการขนาดเท่าไร ขีดเส้นทำความเครื่องหมายก่อนนำไปตัดด้วยแท่นตัดกระเบื้อง หรือเครี่องเจียรแบบลูกหนูทดลองวางดูก่อนฉาบปูนให้มีร่องห่างกันประมาณ 2-3 มม.
3.5 ผสมปูนยาแนว 1 ส่วน กับน้ำ 1 ส่วน ฉาบยาแนวลงในส่วนของร่องรอยต่อของกระเบื้องให้เต็มทิ้งไว้ให้พอหมาดจึงเช็ดออกด้วยฟองน้ำชุมน้ำหมาดๆ จนร่องยาแนวเรียบสนิท ความกว้างของร่องกว้างเสมอกันตลอดแนว

4. วิธีการตรวจรับงานปูกระเบื้อง
ขั้นตอนที่ 1
ความสวยงาม-กระเบื้องที่มีสีสันและลวดลายแบบเดียวกัน ควรปูแล้วดูกลมกลืนกันไม่ควรมีแผ่นใดแผ่นหนึ่งมีสีผิดเพี้ยน เด่น สะดุดตาขึ้นมา แนวขอบกระเบื้องหรือแนวร่องต้องเป็นเส้นตรงไม่บิดเบี้ยว เฉ เอียง ซึ่งตรวจสอบได้โดยการใช้เชือกขึงดู ระยะของร่องยาแนวควรอยู่ระหว่าง 1-3 มม. ไม่ควรห่างจนเกินไป
ขั้นตอนที่ 2
ความราบเรียบ-กระเบื้องทุกแผ่นต้องเรียงอยู่ในระดับเสมอเท่ากันกับแผ่นข้างเคียง ถ้าเป็นผนังตรวจสอบได้โดยการใช้มือลูบถ้าเป็นพื้นตรวจสอบได้โดยการใช้เหรียญวางแนบลงระหว่างรอยต่อของแผ่นถ้าสามารถกดเหรียญแล้วกระดกได้ แสดงว่ากระเบื้อง 2 แผ่นนั้นปูไม่ได้ระดับเสมอกัน
ขั้นตอนที่ 3
ระดับความลาดเอียงของพื้น-พื้นที่ปูควรมีระนาบเอียงไปสู่ตำแหน่งที่ให้น้ำไหลระบายลงไปได้เช่นขอบพื้นหรือรูท่อน้ำระบายน้ำทิ้งตรวจสอบได้โดยการทดลองราดน้ำลงที่พื้นให้เปียกอย่างทั่วถึง แล้วสังเกตดูทิศทางไหลของน้ำ และดูว่ามีบริเวณใดที่มีน้ำไหลไปรวมกันเป็นแอ่ง
ขั้นตอนที่ 4
การยาแนวร่อง-ควรใช้ปูนซีเมนต์ขาว หรือกาวยาแนว ร่องยาแนวที่เรียบร้อยต้องดูเนียนเรียบไม่มีเศษปูนล้นร่อง ไม่มีก้อนปูนขรุขระ ไม่มีรูเล็กรูน้อย ซึ่งอาจกลายเป็นที่อยู่อาศัยของมดแมลงได้ ตรวจสอบได้โดยการใช้นิ้วลูบตามแนวร่อง
ขั้นตอนที่ 5
ควรใช้ปูนซีเมนต์ขาว หรือกาวปูเซรามิค เพื่อการยึดเกาะที่ดี และป้องกันปัญหาเรื่องความชื้นหรือเชื้อรา-วัสดุที่ใช้ต้องปาดให้เรียบเต็มแผ่นกระเบื้องเพื่อการยึดเกาะเต็มที่และเพื่อความแข็งแรงในการรับน้ำหนัก-ตรวจสอบได้โดยการเคาะเบา ๆ ด้วยของแข็งแล้วฟังดูว่าใต้กระเบื้องโปร่งหรือไม่

ที่มา http://www.prakard.com