ความสูงอาคารเพื่อการถอยร่น

 


1. การวัดความสูงอาคาร ถ้าวัดให้เขตระยะห้ามสร้าง เช่นตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องกำหนดบริเวณห้ามสร้างในเขตพระนคร พ.ศ. 2542
พื้นที่ที่จะสร้างอยู่ในบริเวณที่ 1 ห้ามก่อสร้างอาคารที่มีความสูงเกิน 20 ม. ให้วัดส่วนของอาคารที่สูงที่สุด

2. กรณีนอกเขตห้ามก่อสร้างหรือทั่วไป
2.1 กรณีห้องที่บุคคลเข้าใช้สอยได้ เช่นห้องใต้หลังคา ใต้ทรงจั่วให้วัดที่ยอดผนังสูงสุด
2.2 ห้องเครื่องลิฟต์ ห้องเครื่องปั้มน้ำ ห้องเก็บถังน้ำใช้ โดยปกติมิได้ให้บุคคลเข้าไปใช้สอยยกเว้นการเข้าไปบำรุงรักษาระบบก็ไม่นับรวมเป็นความสูง
ถ้าคิดเรื่องเป็นอาคารสูงหรือไม่ ? เพราะอาคารสูงให้นับถึงพื้นดาดฟ้า

3.แต่ถ้าพิจารณาเรื่องSet back ตามข้อ 44 กฎกระทรวงฉบับที่ 55 ฯ ต้องนับรวมเป็นความสูงอาคารเพื่อการถอยร่นครับ
"ข้อ 44. ความสูงของอาคารไม่ว่าจากจุดหนึ่งจุดใด ต้องไม่เกินสองเท่าของระยะราบ วัดจากจุดนั้นไปตั้งฉากกับแนวเขตด้านตรงข้ามของถนนสาธารณะที่อยู่ใกล้อาคารนั้นที่สุด
ความสูงของอาคารให้วัดแนวดิ่งจากระดับถนนหรือระดับพื้นดินที่ก่อสร้างขึ้นไปถึง ส่วนของอาคารที่สูงที่สุด สำหรับอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยาให้วัดยอดผนังของชั้นสูงสุด "

การวัดความสูงของอาคาร

 


กฏหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารได้กำหนดวิธีการวัดความสูงของอาคารแยกตามวัตถุประสงค์และสถานที่ก่อสร้างออกเป็นกรณีดังนี้

1.1 กฏกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535)ฯ ข้อ 1 กำหนดให้การวัดความสูงของอาคารสูงให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงพื้นดาดฟ้า สำหรับอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยาให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงยอดผนังของชั้นสูงสุดของอาคาร (หลังอะเส)

1.2 กฏกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543)ฯ ข้อ 44 กำหนดให้ความสูงของอาคารไม่ว่าจากจุดหนึ่งจุดใด ต้องไม่เกินสองเท่าของระยะราบ วัดจากจุดนั้นไปตั้งฉากกับแนวเขตด้านตรงข้ามของถนนสาธารณะที่อยู่ใกล้อาคารนั้นที่สุด โดยความสูงของอาคารให้วัดแนวดิ่งจากระดับถนนหรือระดับพื้นดินที่ก่อสร้างขึ้นไปถึงส่วนของอาคารที่สูงที่สุด สำหรับอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยาให้วัดถึงยอดผนังของชั้นสูงสุด

1.3 กฎกระทรวงกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร กำหนดให้การวัดความสูงของอาคารให้วัดจากระดับพื้นดินถึงส่วนที่สูงสุดของอาคาร